ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. 63 อยู่ที่ 49.2 จาก 48.2 ในเดือนพ.ค.63 โดยดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 41.4 จาก 40.2 ในเดือนพ.ค. 63
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 47.6 จาก 46.6 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 58.6 จาก 57.7
สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 และ 4, รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลการแพร่ระบาดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19, กนง.ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 63 เป็น -8.1%, รัฐบาลขยายเวลาการใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, ราคาพืชผลการเกษตร ยังทรงตัวในระดับต่ำ, การส่งออกเดือนพ.ค. ติดลบ -22.5%, ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และผู้บริโภคกังวลปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคหลายรายการในเดือนนี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจมาในรอบ 21 ปี 9 เดือน การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก อาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยอีก 3-6 เดือนนับจากนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลายตัวลง และมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้กลับคืนมา "ตอนนี้ประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย จากความกังวลในเรื่องโควิดว่าจะกลับมาระบาดรอบสอง รวมถึงกังวลภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี รายได้ลดลง กังวลปัญหาหนี้สิน...แต่จากการคลายล็อกมาตรการในเฟส 5 น่าจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยเริ่มดีขึ้นในเดือนก.ย. รวมทั้งหากรัฐบาลอัดฉีดมาตรการเสริมเข้าไป สัญญาณบวกทางเศรษฐกิจน่าจะเกิดขึ้นได้ในไตรมาส 4 แต่กว่าจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวได้คงอยู่ในช่วงไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ของปีหน้า" นายธนวรรธน์ กล่าว นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีการวางแผนการท่องเที่ยวในช่วงนี้ แผนการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเริ่มขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้สัญญาณการจับจ่ายใช้เงินในเรื่องของการท่องเที่ยวอาจจะหายไปในช่วง 3 ไตรมาสของปีนี้ ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการจะทำให้เม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นตัวช่วยค้ำยันเศรษฐกิจภายในประเทศ ก็จะต้องมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ตอบสนองหรือมีแรงจูงใจมากกว่านี้ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในเรื่องความปลอดภัยจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด หากจะเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย "ตอนนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่มีการวางแผนการท่องเที่ยว แต่มองยาวไปอีก 1 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นทำให้สัญญาณการใช้เงินเรื่องท่องเที่ยวจะหายไปถึง 3 ไตรมาส กว่าจะเริ่มท่องเที่ยวกันก็เป็นช่วงไตรมาส 1 ปี 64 มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในตอนนี้ อาจจะยังไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากนัก รัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจมากกว่านี้" นายธนวรรธน์กล่าว พร้อมระบุว่า สำหรับความไม่แน่นอนทางการเมืองในขณะนี้ เริ่มกลับมาเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอีกครั้ง โดยปัจจัยเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศได้กลับมาเป็นปัจจัยอันดับที่ 3 รองจากปัจจัยความกังวลปัญหาโควิด และปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งปัจจุบันจะเริ่มเห็นข่าวปัญหาภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล และมีกระแสเรียกร้องให้ปรับทีมเศรษฐกิจ รวมถึงการยุบสภา เป็นต้น นายธนวรรธน์ มองว่า หากรัฐบาลยังไม่สามารถออกมาตรการที่ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เม็ดเงิน 4 แสนล้านบาทลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ภายในช่วง 3 เดือนนี้ เศรษฐกิจไทยก็จะลงลึกอย่างต่อเนื่อง จำนวนคนตกงานมากขึ้น และท่ามกลางความกังวลปัญหาการตกงาน กำลังซื้อหดหาย จะทำให้ประชาชนเริ่มเข้าสู่วงจรการก่อหนี้มากขึ้นทั้งในระบบและนอกระบบ ส่งผลไปถึงความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของประเทศในภาพรวมของปีงบประมาณ 64 ด้วย อย่างไรก็ดี เบื้องต้นศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัวมากขึ้นเป็น -8 ถึง -10% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ -3.5 ถึง -5% ส่วนการส่งออกไทยปีนี้คาดว่าจะหดตัวในระดับ -8 ถึง -10% เช่นกัน ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย จะแถลงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 63 อย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 16 ก.ค.นี้