นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า การจัดทำงบประมาณปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาทของภาครัฐ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งงบกลางกว่า 6 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ซึ่งควรจัดสรรไปใช้ในด้านอื่นๆ ที่มีการระบุวัตถุประสงค์ของโครงการที่ชัดเจน ควบคู่กับการใช้งบประมาณที่เหลือ 4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน และงบตกค้างจากปีงบประมาณปกติของปี 2563 รวมถึงงบลงทุนจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีก 3 แสนล้านบาท นำมาใช้ฟื้นฟูประเทศ ผ่านการจัดทำโครงการที่เน้นก่อให้เกิดผลทางด้านเศรษฐกิจ สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการหมุนเวีนของปริมาณเงินในระบบหลายรอบและสร้างประโยชน์ในระยะยาว
ดังนั้น การจัดทำงบประมาณในปี 2564 นั้น จึงควรเน้นยุทธศาสตร์ของประเทศที่มุ่งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างจุดแข็งของประเทศใหม่ และเพิ่มศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลง และรับมือกับปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ที่เปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของโรคไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกชะลอตัว และต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ทำให้ไทยในฐานะประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยว ยังต้องเผชิญความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป โดยคาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวถึง 8-10%
"การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมีความจำเป็นในทางเศรษฐกิจที่หดตัวอย่างรุนแรง และสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทยยังอยู่ในกรอบไม่เกิน 60% ของจีดีพี เพราะไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ จึงควรเร่งรัดการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเงินงบแต่ละกระทรวง ที่ต้องติดตามการนำเงินไปใช้ในแต่ละโครงการให้ตอบโจทย์มิติการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศ หรือต่อยอดสร้างความได้เปรียบเชิงการแขงขันของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น โครงการสร้างประเทศไทยให้เป็นเมดิคัลฮับของโลก เป็นต้น"นายมนตรี กล่าว