นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว "เที่ยวปันสุข" ประกอบด้วย แพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท และแพ็กเกจกำลังใจ กรอบวงเงิน 2,400 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 22,400 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2563 ดำเนินการโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารกรุงไทย (KTB)
สำหรับแพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน เป็นการฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยการสนับสนุนค่าที่พักและค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน รัฐบาลจะสนับสนุนค่าที่พักในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) ในอัตรา 40% ของค่าที่พัก แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน ในการเข้าพักในโรงแรมที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมและโฮมสเตย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจะได้รับ E-Voucher คืนละ 600 บาท ใช้จ่ายเป็นค่าอาหารและค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวในลักษณะร่วมจ่ายเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนการใช้จ่ายในอัตรา 40%
ในส่วนของสายการบิน รัฐบาลจะสนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินบางส่วนในลักษณะการจ่ายคืน (Redeem) สำหรับผู้จองที่พักที่เดินทางโดยสายการบิน โดยผู้จองที่พักจะต้องดำเนินการจองและชำระค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเต็มจำนวน ผ่านทางเว็บไซต์ของสายการบิน และรัฐบาลจะจ่ายเงินคืนในอัตรา 40% ของค่าบัตรโดยสาร แต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อที่นั่งเข้าสู่แอปพลิเคชั่นเป๋าตังของผู้จองที่พัก ภายหลังการเช็คเอาท์ สามารถนำไปใช้จ่ายหรือถอนเงินสดได้โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลา
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า แพ็กเกจกำลังใจ เป็นการขอบคุณอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเป็นผู้ที่เสียสละในการทำงานอย่างหนักและเป็นผู้ที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการเดินทาง 2 วัน 1 คืน โดยทั้งสองแพ็กเกจสามารถใช้สิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เที่ยวปันสุข.ไทย และ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com
รมว.ท่องเที่ยว กล่าวว่า ปี 62 มีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งจากในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.01 ล้านล้านบาท เทียบได้กับ 18% ของ GDP แต่มาปี 63 จากเหตุการณ์โควิด-19 กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับ ททท.ได้ปรับลดเป้าลงมาเหลือ 1.23 ล้านล้านบาท โดยคนไทยท่องเที่ยวในประเทศไทยให้ได้ 120 ล้านคน-ครั้ง ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงธันวาคม 63 ให้ได้ 10 ล้านคน โดย 3 เดือนแรก (ก่อนเกิดโควิดจนปิดน่านฟ้า) มีอยู่แล้ว 6.7 ล้านคน ซึ่งจะทำอย่างไรให้อีก 5-6 เดือนที่เหลือ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศอีก 3.3 ล้านคน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีจะอนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเมื่อไร ตรงนี้ก็ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับ New Normal ซึ่งตอนนี้ ศบค.อยู่ระหว่างการหารือชุดเล็กกันทุกวันว่าสุดท้ายแล้วจะทำเรื่องของ Travel Bubble ได้เมื่อใด
"ตัวผมเอง หวังว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้เร็ว เพราะตรงนี้ถือเป็นเรื่องของรายละเอียดที่จะเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่แรกเริ่มสิ่งที่ควรจะได้มากลุ่มแรกคือนักธุรกิจกับคนที่มี work permit ทำงานในประเทศไทย กลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาได้ภายในเดือนนี้อย่างช้าก็เดือนหน้า" นายพิพัฒน์ กล่าว
อีกกลุ่มคือกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาพยาบาลในประเทศไทยแล้ว ในเบื้องต้นน่าจะอนุญาตได้เป็นกลุ่มที่ 2 ส่วนกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวต้องรอดูว่า ศบค.จะอนุญาตได้เมื่อไร หวังว่าในเดือนสิงหาคมหรืออย่างช้าเดือนกันยายนน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แต่การเข้ามายังเชื่อว่าน่าจะเข้าในสถานที่ท่องเที่ยวที่รัฐบาลไทยกำหนดว่าเที่ยวที่ไหนได้ เที่ยวที่ไหนไม่ได้ เพราะถ้าเที่ยวแบบไม่มีข้อจำกัดแล้วเกิดในการระบาดรอบ 2 จะไม่คุ้มกับการเปิดประเทศให้คนมาเที่ยว
ส่วน Travel Bubble อยู่ในระหว่างขั้นตอนการเจรจาของ ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีผู้บริหารระดับสูงร่วมประชุมด้วยทุกวันก็จะมีข้อมูลออกมาตลอดเมื่อข้อมูลทั้งหมดออกมา ซึ่งจะนำไปหารือกับ ศบค.ชุดใหญ่ หากผ่านความเห็นชอบก็จะนำเข้า ครม.อีกครั้ง แต่วันนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร
"ตอนนี้เราต้องการดูความนิ่ง แต่เบื้องต้นขอเอานักธุรกิจกับผู้ป่วยที่มารักษาพยาบาลที่ไม่ใช่โรคโควิดก่อน เมื่อตรงนี้จบก็น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวใน Step ต่อไป แต่เราก็ไม่ได้หยุดตอนนี้ เราก็ยังหารือไปเรื่อยๆ เมื่อ 2 กลุ่มนี้นิ่งภายในเดือนนี้ ก่อนสิ้นเดือน ก.ค.จะนำเรื่องของนักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าไปหารือ ศบค.ชุดใหญ่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา" นายพิพัฒน์ กล่าว
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่บัดนี้ สำหรับประชาชนทั่วไปจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 15 ก.ค.63 ส่วนแพ็กเกจกำลังใจ จะเปิดให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวลงทะเบียนผ่าน www.เที่ยวปันสุข.ไทย ในวันที่ 10 ก.ค.63 สำหรับ อสม.,อสส., และ รพ.สต. สามารถเข้าไปลงทะเบียนในวันที่ 25 ก.ค.63 และเดินทางท่องเที่ยวได้ในวันที่ 30 ก.ค.63 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคให้เติบโต และทำให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อไป
หากมีผู้สนใจเข้ามาลงทะเบียนขอรับสิทธิ์เต็มทั้งที่พักจำนวน 5 ล้านคืน ค่าใช้จ่ายร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยว 5 ล้านสิทธิ์ และค่าตั๋วเครื่องบิน 2 ล้านใบก็อาจจะพิจารณาขยายโครงการ ทั้งนี้คาดว่าทั้งโครงการ"เราเที่ยวด้วยกัน" และ "กำลังใจ" จะสร้างรายได้ทางตรง 5 หมื่นล้านบาท และทางอ้อม 2.6 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจซึ่งสภาพัฒน์ระบุว่าเนื่องจาก supply chain ของการท่องเที่ยวค่อนข้างยาวก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท
"จากเดิมที่เราคิดว่าปีนี้จะมีคนไทยเที่ยวประมาณ 80-100 ล้านคน-ครั้ง เพราะโครงการนี้ออกมาและดูความพร้อมต่างๆ แล้วก็คิดว่าน่าการท่องเที่ยวในประเทศปีนี้ขอเป็น 120 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งตอนนี้คิดว่าได้แล้ว 30-40 ล้านคน-ครั้ง ช่วงเวลาที่เหลือ 80 ล้านคน-ครั้ง ในช่วงเวลา 5-6 เดือนนับจากนี้" นายยุทธสักดิ์ กล่าว
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ประกอบการที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้คือผู้ประกอบการโรงแรมระดับ hi-end นั้นไม่เป็นความจริง เพราะการตั้งราคาค่อนข้างสูงไม่ได้หมายความว่าจะไปช่วยระดับ hi-end ต้องเพราะบรรดาโฮมสเตย์ก็ดึงเข้ามาร่วมโครงการ ขณะเดียวกันก็กังวลว่ากำลังซื้อในประเทศอาจจะไม่ได้สูงมากนัก ฉะนั้นพยายามช่วยให้รายเล็กๆ น่าจะได้ประโยชน์ สุดท้ายแล้วอาจจะมีค่าห้องแค่คืนละประมาณ 1,000-2,000 บาท ช่วยไป 60% ที่ตั้งไว้จะอุดหนุน 3,000 บาท ก็เหลือกลับมากระจายช่วยรายเล็กๆ ได้อีก
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ธนาคารพร้อมสนับสนุนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนลงไปในระดับฐานราก
ที่ผ่านมา ธนาคารร่วมดำเนินโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศมาโดยตลอดเช่นกัน โดยในครั้งนี้ "เราเที่ยวด้วยกัน" และ "กำลังใจ" ธนาคารได้พัฒนาแพลตฟอร์มการลงทะเบียนและการชำระเงินแบบดิจิทัลผ่าน www.เราเที่ยวด้วยกัน.com เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประชาชนกับผู้ประกอบการเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กำหนดคุณสมบัติของประชาชนที่จะลงทะเบียนรับสิทธิ โดยต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน มีบัตรประชาชน และโทรศัพท์มือถือ สามารถลงทะเบียนรับสิทธิท่องเที่ยว ที่พัก และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ
โดยขอย้ำว่าต้องใช้สิทธิในจังหวัดที่ไม่ใช่ทะเบียนบ้านของตนเอง ซึ่งการลงทะเบียนขอแนะนำให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง มาเตรียมไว้ ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เชื่อมั่นว่าจะช่วยเร่งการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศให้กลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า การลงทะเบียนรับสิทธิ์ครั้งนี้ไม่ได้จำกัดจำนวน ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามาลงทะเบียนได้เรื่อยๆ และไม่สามารถล็อกสิทธิ์ใครได้ เพราะสิทธิ์จะเกิดขึ้นเมื่อมีการจองโรงแรมที่พักเกินขึ้นจริง มีการจ่ายเงินค่าที่พักจริง 60%
"ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับสิทธิ์ แต่ต้องไปแย่งห้องพักกัน ใครจองก่อนได้ก่อน เพราะฉะนั้นถ้าได้รับโค้ดมา ก็ต้องรีบจองห้องพักเพื่อไปเที่ยวเลย ส่วนจะไปเที่ยวเมื่อไร ก็ไม่เป็นไร" นายลวรณ กล่าว