COVID-19คมนาคม ชงเงินเยียวยาขนส่งทางน้ำเพิ่มเกือบ 2 พันลบ./พิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 3, 2020 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมพิจารณาข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ภาคคมนาคมขนส่ง ครั้งที่ 3/2563 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอเพิ่มเติมในส่วนของกรมเจ้าท่า (จท.) เพื่อขอรับจัดสรรภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ (พ.ร.บ.เงินกู้ โควิด-19) วงเงิน 4 แสนล้านบาท ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย สมาคมเจ้าของเรือไทย และสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย ในส่วนของค่าจ้างพนักงานที่ได้รับผลกระทบวงเงินประมาณ 1,942 ล้านบาท โดยให้เร่งทำรายละเอียดยืนยันเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการเยียวยาต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมได้สรุปมาตรการช่วยเหลือ เสนอไปยังกระทรวงการคลังแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วงเงิน 6,612.324 ล้านบาท ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 4,773.728 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 614.41 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 550.998 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 657.999 ล้านบาท กรมเจ้าท่า วงเงิน 1.866 ล้านบาท และบริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.) วงเงิน 13.323 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการอื่นๆ ที่จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก และไม่เข้าข่ายลักษณะแผนงานโครงการตามบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.ก. พ.ร.บ.กู้เงิน โควิด-19 แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านพลังงาน โดยกรมการขนส่งทางบก เสนอขอให้ตรึงราคา NGV และน้ำมันดีเซล ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้พิจารณาอุดหนุนราคา NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะถึงวันที่ 31 ก.ค. 2563 หลังจากนั้นราคา NGV จะลอยตัว แต่จะอยู่ในระดับ 75% ของราคาน้ำมันดีเซล B10 ซึ่งที่ประชุมได้ให้กรมขนส่งฯ พิจารณากรณีราคา NGV ลอยตัวดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออัตราค่าโดยสารอย่างไร และเร่งนำเสนอกระทรวงคมนาคม

2. มาตรการด้านการเงิน ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขอเลื่อนชำระเงินกู้ยืมที่จะครบกำหนดชำระคืน ในปี 2563 วงเงิน 400 ล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อลดผลกระทบต่อการกระแสเงินสด และการลงทุน ซึ่งกระทรวงการคลังให้ กทพ.จัดทำรายละเอียดรายรับ รายจ่ายเสนอประกอบการพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ กทพ.เสนอขอนำส่งรายได้ให้รัฐตามผลการดำเนินงานจริงโดยจ่ายตามสภาพคล่องของ กทพ. ซึ่งกระทรวงการคลังกำหนดให้กทพ.ส่งรายได้ 40% ของกำไรสุทธิ ซึ่งได้มีการประมาณการณ์รายได้ปีนี้ไว้ ทั้งนี้ สคร.ให้ดำเนินการระเบียบการเงินที่เกี่ยวข้อง โดยจะพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและรายได้ของกทพ.ในภาพรวมให้สอดคล้องกัน

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย(บวท.) ขอสนับสนุนจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงินประมาณ 3,920 ล้านบาท เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องและการลงทุน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากที่ต้องลดค่าบริการนำร่อง 50% เพื่อช่วยเหลือสายการบิน และรายได้ดลงจากปริมาณการจราจรทางอากาศที่ลดลง โดยให้ทำรายละเอียดเสนอไปยังสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

กรมเจ้าท่า ขอสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ในส่วนของซอฟต์โลนนั้น เนื่องจากกระทรวงการคลังมีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว ให้ผู้ประกอบการขอรับความช่วยเหลือผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยให้กรมเจ้าท่ารับรอง สถานะของผู้ได้รับผลกระทบ

3. มาตรการด้านภาษี ในเรื่องการอุดหนุนผู้ประกอบการเพื่อรักษาการจ้างงาน ของสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย ซึ่งกรมสรรพากรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายนพนักงานหักภาษีได้ 3 เท่าอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้มาตรการอุดหนุนของภาครัฐได้

4. ด้านประกันภัย ผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำเสนอขอลดเบี้ยประกันภัย 50% กรอบวงเงิน 57 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แจ้งว่า ได้มีส่วนลด 10% กับผู้ประกอบการแต่ไม่ครอบคลุมประกันภัยเรื่องขนส่ง โดยที่ประชุมให้กรมเจ้าท่าทำรายละเอียดเสนอไปยังคปภ. เพื่อหารือกับบริษัทประกันภัยต่อไป

5. มาตรการอื่นๆ เช่น การลดค่าเช่า เลื่อนชำระค่าเช่า ยกเว้นจ่ายค่าตอบแทน เช่น บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ขอลดค่าเช่าสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ จตุจักร จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประมาณ 21.816 ล้านบาท และค่าเช่าสถานีขนส่ง ใต้ทางด่วน จากการรถไฟฯจำนวน 24.6 ล้านบาทและจาก กทพ. ประมาณ 3.12 ล้านบาท ซึ่ง ให้บขส.เสนอบอร์ดทบทวนและเสนอยืนยันกลับมาอีกครั้ง ก่อนจะพิจารณาต่อไป เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ