นายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ บมจ.กรุงเทพโปรดิ๊วส ซึ่งเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า การประกาศรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง และใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Corn Traceability) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ยืนยันเจตนารมย์การจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรที่มาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีฐานข้อมูลในระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้ง ยังเดินหน้าขับเคลื่อนนำระบบบริหาร และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งเสริมการใช้ระบบ GPS เพื่อติดตามรถขนส่ง รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีความถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับระบบตรวจสอบย้อนกลับดังกล่าว บริษัทฯ ได้รับความร่วมมือจากคู่ค้าธุรกิจและผู้รวบรวมข้าวโพดในการติดตั้งระบบ GPS Tracking บนรถขนส่งทุกคัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อใช้ในติดตามข้อมูลแบบ real time สำหรับการขนส่งข้าวโพดเข้าสู่โรงงานอาหารสัตว์ซีพีเอฟในเขตประเทศไทยได้ครบ 100% ทำให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับมีความแม่นยำและโปร่งใสยิ่งขึ้น ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจน นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถอำนวยความสะดวก เพิ่มความคล่องตัว และประสิทธิภาพการขนส่งให้แก่คู่ค้าอีกด้วย
ซีพีเอฟยังได้เริ่มนำระบบตรวจสอบย้อนกลับดังกล่าวไปขยายผลในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ประกาศรับซื้อผลผลิตข้าวโพดจากแหล่งผลิตที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องในเขตประเทศเมียนมา ภายใต้ระบบตรวจสอบย้อนกลับเท่านั้น โดยเกษตรกรมอบความมั่นใจให้กับโรงงานอาหารสัตว์ซีพีเขตประเทศเมียนมา และร่วมลงชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนตามการกำหนดมาตรฐานการรับซื้อจากแหล่งผลผลิตข้าวโพดที่มีเอกสารสิทธิ์ และเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซีพีเอฟยังมุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรในห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งคู่ค้าธุรกิจต่อเนื่องจนถึงเกษตรกร เพื่อให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" ตั้งแต่ปี 2558 ส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้สมัยใหม่ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิตลดลง พัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพสามารถขายตรงให้กับโรงงานอาหารสัตว์ได้ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกที่ถูกต้อง การวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ย การใช้สารเคมีที่เหมาะสม รวมทั้งกระบวนการจัดการหลังเก็บเกี่ยวเพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิต โดยในปีนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะขยายผลโครงการในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด อ.สีคิ้ว และ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ตั้งเป้าส่งเสริมเกษตรกรทั้งสิ้น 1,000 ราย พื้นที่เพาะปลูก 30,000 ไร่
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้ร่วมมือกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินแผนงานโครงการ ความร่วมมือพัฒนาคู่ค้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถของคู่ค้าในหลากหลายธุรกิจ และผู้รวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในห่วงโซ่อุปทานมีการบริหารจัดการแรงงานด้วยความรับผิดชอบและถูกต้องตามกฎหมาย และผลักดันให้ผู้ประกอบการได้การรับรองมาตรฐานแรงงานไทยอีกด้วย เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกองค์ประกอบหนึ่งของนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืน