ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.50% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 18 ก.ค.เนื่องจาก กนง.ได้แสดงท่าทีที่เชื่อมั่นว่าการใช้จ่ายภายในประเทศน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะหากปัญหาการเมืองทยอยคลี่คลายลงตามลำดับและไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นตามที่กังวล โดยมีกระแสความคาดหวังในเชิงบวกมากขึ้นว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่า 4.0% ในปี 2550 นี้ และอาจขยายตัวสูงขึ้นได้ในปี 2551
ทั้งนี้ จากภาพรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าภาวะอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน จะมีทิศทางการปรับตัวที่ชะลอตัวลง เห็นได้จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อจะยังมีระดับต่ำและยังไม่เป็นความเสี่ยงสำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าแนวโน้มดังกล่าวอาจจะเอื้อให้ กนง.มีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงได้อีก แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กนง.มีความโน้มเอียงที่จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันไว้ที่ 3.50% ตามเดิม เพราะกนง.เชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวขึ้น
ประกอบกับ กนง.อาจจะให้น้ำหนักมากขึ้นกับแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อันเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ค่อนข้างต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน และแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวนอยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ กนง.อาจจะไม่ต้องการให้ระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวลดลงไปจนส่งผลกระทบต่อการออมของประชาชนด้วยเช่นกัน
สำหรับประเด็นเรื่องค่าเงินบาทนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินนโยบายการเงินของกนง.น่าจะมุ่งเป้าหมายไปที่การรักษาเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก มากกว่าจะเป็นการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท ซึ่งคงจะต้องอาศัยมาตรการในเชิงคุณภาพอื่นๆ อาทิ มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท มาตรการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น มาใช้ดำเนินการประกอบด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะคาดการณ์ว่ากนง.อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยืนอยู่ที่เดิมไปจนถึงสิ้นปี 2550 โดยหากภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นตามที่กนง.คาดหวังไว้ หรือสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองมีความผันผวนในเชิงที่แย่ลงจากเดิม ในขณะที่แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อยังไม่เร่งตัวสูงขึ้นมาก กนง.ก็ยังมีความยืดหยุ่นที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกในการประชุมรอบถัดๆ ไป ตามความเหมาะสมของเหตุการณ์และปัจจัยแวดล้อม
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--