นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่า เห็นด้วยกับแนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะลงได้อีกเล็กน้อย แต่ที่นักวิชาการเสนอให้ปรับลดลงรวดเดียวกว่า 1% นั้น มองว่าไม่สามารถทำได้
"นักวิชาการมีสิทธิพูด ร้อยคนก็ร้อยอย่าง"นายโฆสิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ดูแลและติดตามการเคลื่อนไหวของเงินบาทและไม่ได้มีการตำหนิผู้ว่าการ ธปท.เพราะที่ผ่านมาก็ทำงานได้ดี
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า นโยบายดอกเบี้ยเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะสามารถดูแลค่าเงินบาทได้ แต่ไม่สามารถพึ่งพากลไกใดกลไกหนึ่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งแนวคิดเรื่องการใช้กลไกอัตราดอกเบี้ยก็มีหลายมุมมอง โดยฝ่ายหนึ่งมองว่าเงินจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาได้เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ใช่ไหลเข้ามากินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่สามารถสกัดกั้นได้
นอกจากนั้นแล้ว หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็อาจส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไป ซึ่งก็จะทำให้เงินจากต่างประเทศยิ่งไหลเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้กดดันให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นด้วย
รมว.คลัง กล่าวว่า การบริหารจัดการค่าเงินในหลักการไม่ควรจะให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ควรให้มีการขึ้นได้และลงได้ เพราะหากเดินไปทางเดียวก็จะทำให้เกิดการเก็งกำไร ดังนั้น ต้องมีการจัดการให้มีความยืดหยุ่นอย่างเหมาะสม
"เงินบาทเราแข็งได้ แต่ต้องแข็งอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ปล่อยให้แข็งค่ามาก ขึ้นกับการบริหารจัดการ คือ ต้องเทียบเคียงกับค่าเงินของเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน และเราก็อย่าออกนอกทางจนเกินไป อันนี้จะเป็นวิธีป้องกันตัวเอง"นายฉลองภพ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--