น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการลงนามพิธีสาร ว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นการลงนามระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศได้มีการลงนามในพิธีสารฯ กำหนดให้ผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีนใช้เส้นทางจากด่านมุกดาหารเข้าสู่จีนตอนใต้ที่ด่านโหย่วอวี้กว่าน เมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกวางซีจ้วง (เส้นทางR9) และกำหนดเส้นทางขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนและจากจีนมายังไทยผ่านด่านเชียงของ และด่านโม่หาน มณฑลอยู่นาน (จีนตะวันตก) (เส้นทาง R3) รวมทั้งการกำหนดมาตรการกักกันโรคและตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง
แต่ด้วยปัจจุบันไทยส่งออกผลไม้ไปจีนในปริมาณมาก โดยเฉพาะในฤดูกาลผลไม้ของไทย ประกอบกับด่านที่จีนอนุญาตให้นำเข้ามีจำกัด ส่งผลให้เกิดปัญหารถติดสะสมหน้าด่านนำเข้า สร้างความเสียหายต่อคุณภาพและราคาของผลไม้ไทย ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เร่งเจรจาผลักดันให้จีนเปิดด่านนำเข้าผลไม้และเส้นทางในการขนส่งผลไม้จากไทยเพิ่มเติม และฝ่ายจีนก็ได้เห็นชอบแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการลงนามในพิธีสารฉบับใหม่ เนื้อหาไม่แตกต่างจากที่ได้เคยลงนามมาแล้วเมื่อปี 2552 และ 2554 แต่ได้ระบุให้ฝ่ายจีนเพิ่มด่านนำเข้าผลไม้จากไทย รวมทั้งอนุญาตให้ฝ่ายไทยใช้เส้นทางใดก็ได้ในการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนเพื่อแก้ปัญหาการขนส่งและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกของไทย
สาระสำคัญ พิธีสารฯ ประกอบด้วย 1. ผลไม้ที่นำเข้าและส่งออกของทั้งสองฝ่ายจะต้องเป็นผลไม้ที่ได้รับอนุญาตระหว่างกันโดยจะต้องจัดส่งข้อมูลทะเบียนรายชื่อสวนและโรงคัดบรรจุ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนของแต่ละฝ่าย
2. ผลไม้ต้องได้รับการบรรจุในผลิตภัณฑ์ใหม่สะอาดและอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์หรือตู้ควบคุมอุณหภูมิระหว่างการขนส่ง
3. ก่อนการส่งออกต้องมีการสุ่มเก็บตัวอย่างของผลไม้เพื่อตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยเมื่อสินค้าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
4. ห้ามมิให้มีการเปิดตู้ผลไม้ระหว่างการขนส่งผ่านประเทศที่สาม
5. ด่านนำเข้าและส่งออกของจีน: โหย่วอี้กว่าน โม่หาน ตงซิง สถานีรถไฟผิงเสียง
6. ด่านนำเข้าและส่งออกของไทย: เชียงของ มุกดาหาร นครพนม บ้านผักกาด บึงกาฬ
น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำพิธีสารฯในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ ซึ่งเป็นผลไม้เมืองร้อนที่เน่าเสียง่าย ไปยังจีนโดยเส้นทางบกผ่านประเทศที่สามได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่ผลไม้ที่เรานำเข้าจากจีนเป็นผลไม้ที่เก็บรักษาได้นานจึงใช้การขนส่งโดยทางเรือเป็นหลักเพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่า
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ผ่านด่านโหย่วอี้กว่าน พบว่า มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณ 52,005 ตัน มูลค่า 1,921 ล้านบาทในปี 59 เพิ่มขึ้นเป็น 580,764 ตัน มูลค่า 28,220 ล้านบาทในปี 62 คาดว่าจะมีการลงนามหลังจากผ่านช่วงโควิด-19 แต่ขณะนี้ทางการจีนได้อนุโลมให้ไทยทำการขนส่งผลไม้ได้ตามข้อตกลงใหม่ไปพลางก่อนแล้ว