นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในวันนี้ (8 ก.ค.) พิจารณากลั่นกรองร่างแผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ ซึ่งมีการปรับปรุงทบทวนทุก ๆ 3 ปี โดยเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 20 ก.ค.นี้ โดยได้นำสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อปริมาณการจราจรทางอากาศระหว่างประเทศ ให้ปรับตัวลดลงถึง 95% มาร่วมพิจารณาด้วย
โดยในส่วนของแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนขยายทางทิศเหนือ (Terminal 2) มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท ของบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. ซึ่งอาจต้องชะลอไปก่อนตามสถานการณ์ โดยขณะนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) อยู่ระหว่างพิจารณาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วย เพราะคาดว่าจะอีกนานกว่าจะฟื้นตัวกลับเป็นปกติ ดังนั้น การลงทุนต่าง ๆ ของทอท.ควรต้องสอดคล้องกับสถานะการเงินและปริมาณจราจร
ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้การบริหารจัดการห้วงอากาศ ไม่เป็นไปตามปกติที่จะเป็นการบริหาร เชิงบวกตามปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้ปริมาณการบินติดลบจึงต้องประเมินใหม่เพื่อให้การใช้น่านฟ้าของไทยเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงกรณีที่มีสายการบินเลิกกิจการ ตลอดจนประเมินสถานการณ์ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไปด้วย โดยกรณีที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกพท. ได้พิจารณาการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) สายการบิน 4 ราย ซึ่งเป็นสายการบินขนาดเล็ก ทำการบินแบบไม่ประจำ (เช่าเหมาลำ) ซึ่งกพท.ได้มีการพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไข ทั้งคุณสมบัติ และระเบียบต่างๆ และจะมีการเสนอกบร.พิจารณาต่อไปด้วย
ส่วนกรณีบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ประกาศเลิกกิจการนั้น ทางกพท.จะต้องตรวจสอบข้อมูลของบริษัท และรายงานต่อกบร. ก่อนที่จะยกเลิกใบอนุญาตการบินตามกฎหมาย โดยเฉพาะสถานะ หนี้สินต่าง ๆ เช่น หนี้ค่าตั๋วโดยสารที่ต้องคืนให้ผู้โดยสาร หนี้กับสนามบิน และค่าบริการต่างๆ บริษัท มีแผนบริหารจัดการเจ้าหนี้อย่างไร เพื่อความเป็นธรรมกับผู้บริโภค