ผู้ว่า ธปท.ไม่คิดกลับไปใช้ Fix Rate/ยังเน้นดูแลไม่ให้ผันผวนมาก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2007 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ไม่มีแนวคิดที่จะกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เหมือนกับในอดีตที่เคยต้องใช้เงินทุนสำรองของประเทศจำนวนมากในการปกป้องค่าเงินบาท จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 
ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่จะใช้ได้คงจะต้องมีเงินสำรองมากเพื่อรองรับกับกระแสเงินในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งกรณีของจีน มีเงินสำรองถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จึงสามารถดูแลค่าเงินให้นิ่งได้ ขณะที่ไทยมีเงินสำรองเพียงประมาณ 7-8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะมากเมื่อเทียบกีบในอดีต แต่เมื่อเทียบกับเงินสำรองของจีนแล้วเรียกว่าผิดกันมาก และขนาดของเศรษฐกิจก็มีความแตกต่าง
"เงินในระบบเศรษฐกิจโลกมีเยอะมาก เพระฉะนั้นถ้าเราจะไปสู้ จะไปยันต้องมีหน้าตักเยอะพอสมควรจึงไปจะสู้กับเขาได้ ไม่อย่างนั้น หาก fix ไปถึงจุดหนึ่งก็ไปไม่รอด และนั่นคือสิ่งที่เราเจอเมื่อ 10 ปีที่แล้ว" ผู้ว่า ธปท.กล่าวให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ถึงสถานการณ์การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาทไปถึงระดับ 33.30 บาทกว่า ๆ /ดอลลาร์ในเช้านี้
นางธาริษา กล่าวว่า แม้ว่าไทยอาจจะมีเงินตราต่างประเทศมากกว่านี้ แต่ก็ต้องคิดเหมือนกันว่าควรจะใช้การดูแลค่าเงินในลักษณะการปกป้องค่าเงินให้คงที่หรือไม่ เพราะเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจแต่ละประเทศเองก็เปลี่ยน กระแสเงินทุนของโลกไหลไปไหลมาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นหากเราบริหารเศรษฐกิจให้มีความยืดหยุ่นพอสมควร ก็จะมีการปรับตัวตามไปได้เอง
นอกจากนั้น การทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เท่ากับว่าเราต้องทำงานเยอะขึ้นเพื่อไปแลกสินค้าเข้ามา
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ไม่สามารถตั้งเป้าหมายได้ว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควาจะอยู่ที่เท่าไหร่ หรือเงินบาทจะแข็งค่าหรืออ่อนค่าไปถึงเท่าใด เพราะขึ้นอยู่กับเงินจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามา คงไม่สามารถยันเอาไว้ที่อัตราใดอัตราหนึ่ง แต่สิ่งที่จะทำได้คือดูแลไม่ให้ผันผวนมากเกินไป เพื่อให้เวลาภาคธุรกิจในการปรับตัว
"เท่าที่คุยกับผู้ส่งออกว่า เขาบอกจะเป็นอัตราเท่าไร ถ้าเขามองเห็นก็คงพอจะสู้ได้ แต่สมมติว่าออร์เดอร์ไปแล้ว และรับราคานั้นไปแล้ว ราคายังผันผวนหลังจากนั้น ก็จะขาดทุน ซึ่งสิ่งนี้เราก็ยังกังวลอยู่"นางธาริษา กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายต่างก็มองแนวโน้มของค่าเงินบาทแตกต่างกัน ซึ่งที่จริงแล้วก็มีทั้งแรงกดดันค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นและอ่อนค่าลง โดยปัจจัยที่เป็นแรงกดดันให้บาทแข็งค่าขึ้นมาจากภายนอก เพราะมีเงินทุนไหลเข้ามามาก แต่ขณะเดียวกันก็มีแรงกกดดันให้บาทอ่อนในช่วงครึ่งหลังของปีที่จะเห็นชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวมากขึ้น การส่งออกคงจะชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีฐานสูง ส่วนการนำเข้าก็แนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันจะสูงขึ้นด้วย
นางธาริษา ยังกล่าวถึงการไหลเข้ามาของเงินทุนจากต่างประเทศที่มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในตลาดหุ้นที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้บาทแข็งค่าขึ้นอย่างมากในขณะนี้ว่า เงินที่ไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วในระยะนี้น่าจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งคงจะมีการปรับตัวในระยะต่อไป
"การที่เงินเข้าตลาดหุ้น ดิฉันคิดว่า เป็นลักษณะชั่วคราว ยังคงเข้ามาแต่เข้ามาด้วยสปีดที่เร็วมาก เหมือนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นลักษณะชั่วคราว เดี๋ยวก็จะมีการปรับตัวของมันอยู่แล้ว "นางธาริษา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ