นอกจากนี้ ยังเดินทางไปเยี่ยมชมระบบผลิตและส่งก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร ระดับชุมชน ตำบลท่ามะนาว ที่กระทรวงพลังงานได้เข้าไปพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิดหรือระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสุกร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องกลิ่นแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการส่งก๊าซชีวภาพไปยังมากกว่า 500 ครัวเรือนเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม หรือคิดเป็น จำนวนเงินมากกว่า 800,000 บาทต่อปี และยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ 5,515 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 3,178ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าคิดเป็นจำนวนเงิน 744,690บาท นับว่าเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านพลังงานอย่างยั่งยืน
"จากที่ได้ดูงานในวันนี้ จะเห็นได้ว่า กระทรวงพลังงานได้พยายามพัฒนาและส่งเสริมการดำเนินงานด้านพลังงานเพื่อประชาชนมาโดยตลอด และ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือการเห็นพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงการดำเนินงานด้านพลังงานจากการร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งนอกจากพ่อแม่พี่น้องจะมีรายได้จากการปลูกพืชเกษตรเพื่อส่งเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าแล้ว ยังมีรายได้จากการเป็นหุ้นส่วนของโรงไฟฟ้า เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เมื่อประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมซึ่งผมเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานด้านพลังงานตาม นโยบาย Energy for all จะช่วยพลิกวิกฤติด้านเศรษฐกิจภายหลังจากสถานการณ์โควิด 2019" รมว.พลังงานกล่าว