นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยขณะนี้ยังคงปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเดือนเม.ย. ติดลบ 9% และหดตัวแรงสุด 10% ในเดือนพ.ค. ขณะที่การผ่อนคลายล็อกดาวน์ มาตรการคุมเข้มเพื่อสกัดการแพร่ระบาดในเดือนมิ.ย. ทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าฟื้นตัวขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับ ติดลบ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ในภาวะปกติความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งหากในปีนี้เศรษฐกิจของไทยหดตัวลงตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ติดลบ 8.1% ก็มีความเป็นไปได้ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศปีนี้จะติดลบในระดับเดียวกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นจากระดับ 35% เป็น 40% ทำให้ กฟผ.อาจต้องวางแผนหยุดเดินโรงไฟฟ้าประเภทต้นทุนสูง ในส่วนทั้งของ กฟผ.และเอกชน
ส่วนโรงไฟฟ้าที่ต้องเดินเครื่องก่อนก็ต้องเป็นไปตามสัญญา must take (โรงไฟฟ้าที่ต้องเดินเครื่องตามพันธะผูกพันทางสัญญา ซึ่งมีด้วยกัน 2 แบบ คือ สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า) และ must run (โรงไฟฟ้าที่มีความจำเป็นต้องเดินเครื่อง เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง)
นายพัฒนา กล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะลดลงทำให้กระทรวงพลังงาน ติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวัน เพราะจะเกี่ยวข้องกับนโยบายการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากตลาดจร (spot) ซึ่งในส่วนของ กฟผ.ก็ได้ขออนุมัตินำเข้าเพิ่มเติม ขณะที่บมจ. ปตท.(PTT) ขอนำเข้าปีนี้ 11 ลำ และยังมีเอกชนอีก 3 รายที่เตรียมพร้อมนำเข้า เพราะเมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่าแผน หากนำ LNG spot เข้ามามาก ก็จะส่งผลกระทบต่อก๊าซฯตามสัญญาตลาดรวม (POOL GAS ) หากเหลือใช้ก็จะเกิดปัญหาต่อสัญญา Take or Pay ที่หากผู้ซื้อไม่สามารถรับก๊าซฯได้ครบตามปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา ก็จะต้องชำระค่าก๊าซฯในส่วนที่ไม่ได้รับด้วย ซึ่งเป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า แม้ว่าการนำเข้า LNG spot ที่ปัจจุบันมีราคาต่ำจะเป็นผลดีต่อค่าไฟฟ้าในปีนี้ก็ตาม ซึ่งทางกระทรวงพลังงาน กำลังพิจารณาภาพรวมอย่างรอบคอบ
ด้านนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า แม้บริษัทจะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วในปริมาณ 6.5 แสนตัน/ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับทางผู้ผลิตและจำหน่าย LNG ระดับโลกกว่า 20 ราย คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้ แต่บริษัทก็ยังคงต้องมีสัญญาซื้อขายก๊าซฯกับ ปตท.อย่างแน่นอน เพื่อลดความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม การนำเข้า LNG ได้เองก็จะช่วยให้ต้นทุนราคาก๊าซฯถูกลง เพราะปัจจุบันราคา LNG ในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งแม้จะมีเอกชนนำเข้า LNG ได้หลายราย แต่เชื่อว่า ปตท.จะไม่เสียผลประโยชน์ เพราะการนำเข้า LNG มาใช้ยังคงต้องผ่านท่อของปตท. และเช่าคลังเก็บ LNG จาก ปตท.อยู่เช่นเดิม