โฆษกกระทรวงการคลัง คาดการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 50 จะต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ในเอกสารงบประมาณที่ 1.42 ล้านล้านบาท แต่จะไม่เกิน 2% เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ภาษีของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 3 พันล้านบาท การขอคืนภาษีของกรมสรรพากรสูงกว่าเป้าหมายเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท ตลอดจนการนำส่งรายได้ของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ลดลงเพราะนำไปชดเชยการยกเลิกการจัดเก็บภาษีกิจการโทรคมนาคมตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)
"การจัดเก็บรายได้ภาษีของ 3 กรมต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 3,049 ล้านบาท และการคืนภาษีของกรมสรรพากรที่สูงกว่าเป้าหมาย 14,666 ล้านบาท" นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว
โดยในเดือน มิ.ย.50 รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้สุทธิ 99,370 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,890 ล้านบาท(1.9%) เนื่องจากรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 2,298 ล้านบาท, ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,607 ล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,425 ล้านบาท
ขณะที่มีภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 3,316 ล้านบาท ภาษีสุรา 443 ล้านบาท และภาษีเบียร์ 173 ล้านบาท นอกจากนี้เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษและค่าภาคหลวงปิโตรเลียมนำส่งต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ประมาณ 2,700 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 50 (ต.ค.49-มิ.ย.50) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,043,744 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,487 ล้านบาท(0.4%) และสูงกว่าปีที่แล้ว 56,411 ล้านบาท(5.7%) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรสูงกว่าที่คาดไว้ และมีรายได้จากส่วนเกินการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลอีกจำนวน 10,600 ล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/ธนวัฏ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--