ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดงานสัมมนานักวิเคราะห์ (Analyst meeting) ชี้แจงประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ การดำเนินนโยบายการเงิน มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และประเด็นสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะหดตัว -8.1% แนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ว่าจะหดตัว -5.3% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 63 มีแนวโน้มติดลบ -1.7% มากกว่าคาดว่าจะติดลบ -1.0% แต่มีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 64
ส่วนประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงและโน้มไปด้านต่ำ โดยคาดว่าเศรษฐกิจในปี 64 จะขยายตัว 5.0% และเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 0.1%
ธปท. ระบุอีกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกรุนแรงกว่าที่คาดไว้ และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ การจ้างงานและรายได้มีแนวโน้มลดลง
มาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงิน และสินเชื่อของ ธปท. ที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 และทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3/63 เนื่องจากไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นผลสำเร็จ หลายประเทศรวมทั้งไทยเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดตั้งแต่เดือน มิ.ย.กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งการเดินทาง การจับจ่ายใช้สอย และการผลิต ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มติดลบในปีนี้ไม่ได้แสดงว่าไทยกำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืดแต่ต้องติดตามความเสี่ยงในระยะต่อไป
ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงรุกตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ช่วงต้นปี 63 โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้งจาก 1.25% มาอยู่ที่ 0.50% ต่ำเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เริ่มเห็นความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ จากนั้นการระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ รวมถึงได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย ต่อมากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักจากมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานและเสถียรภาพระบบการเงินไทยรุนแรงกว่าที่คาด
กนง.อยู่ระหว่างประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการเชิงรุกไปก่อนดำเนินมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม และพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
การดำเนินการของ กนง.ควบคู่ไปกับการออกมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อของ ธปท. เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยผ่อนคลายนโยบายการเงินควบคู่กับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 และจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย
สำหรับมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนและธุรกิจ ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ภาคธุรกิจและลูกหนี้รายย่อย ,สนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมแก่ภาคธุรกิจ SMEs, เลื่อนและลดภาระการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ภาคธุรกิจ SMEs และรายย่อย และ ลดเพดานดอกเบี้ย ค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับให้ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
ส่วนด้านตลาดเงิน ออกมาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (MFLF) และจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ขณะที่สถาบันการเงิน ได้ผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้และการตั้งสำรอง รวมถึงการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง รวมทั้งขอความร่วมมือไม่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และไม่ซื้อหุ้นคืนเพื่อรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่อง
ธปท.ยังเห็นว่าภาวะการเงินไทยโดยรวมผ่อนคลายมากขึ้น สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดการเงิน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับลดลง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยโดยรวมปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูเพื่อการพัฒนาสถาบันการเงิน
ธปท.ยังระบุว่า กนง. กังวลต่อเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในไตรมาส 2/63 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
นอกจากนั้น ยังเห็นว่าเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยที่หดตัวในปีนี้จากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกปรับตัวแรง และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนในหลายประเทศรวมถึงไทย และตราสารหนี้ภาคเอกชนบางกลุ่มอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่เสถียรภาพระบบการเงินยังเข้มแข็งในหลายด้าน
ธปท.เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับสู่ระดับเดิม ทำให้มีผู้ว่างงานจำนวนมากและธุรกิจมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูง เนื่องผลกระทบจากโควิด-19 สร้างความไม่แน่นอนต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน และอาจกระทบศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว
ทั้งนี้ สถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูงและคาดได้ยากว่าจะจบลงเมื่อใด จึงควรใช้ policy space ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด และเตรียมสำรองไว้เผื่อเศรษฐกิจเข้าสู่กรณีเลวร้าย ขณะที่นโยบายภาครัฐจะต้องประสานกันเพื่อลดผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจ (scars) รักษาศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้เกิดการปรับตัวไปสู่โลกใหม่หลังโควิด-19 และภาครัฐควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ในภูมิทัศน์ใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย