พลังงาน เล็งทบทวน 5 แผนหลัก รวมแผน PDP หลังโควิดฉุดยอดใช้พลังงานหดตัวแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 14, 2020 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมนา"ทิศทางพลังงานประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด" ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมในการปรับแผนด้านพลังงานทั้ง 5 แผน ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1/64 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้พลังงานทั่วโลก

ทั้งนี้ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประเมินการใช้พลังงานโลกปีนี้จะลดลงมากที่สุดในรอบ 70 ปี และแม้สถานการณ์จะคลี่คลายทำให้หลายประเทศผ่อนคลายล็อกเพื่อสกัดการแพร่ระบาด แต่ก็เชื่อว่าการใช้น้ำมันจะยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติในปีนี้ และการใช้ไฟฟ้าของโลกก็หดตัวในระดับ 5% มากสุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2473 (Great Depression 1930S)

ส่วนการใช้พลังงานในประเทศก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) การใช้น้ำมันลดลง 13.4% การใช้ไฟฟ้าลดลง 3.8% ขณะที่ยังต้องติดตามหลังการผ่อนคลายล็อกของไทยแล้ว การใช้พลังงานจะฟื้นตัวขึ้นหรือไม่ โดยต้องพิจารณาควบคู่กับโอกาสการแพร่ระบาดรอบที่สองในประเทศด้วย

"การใช้พลังงานที่ลดลงก็จะนำมาสู่การทบทวนแผน PDP ฉบับใหม่และอีก 4 แผนพลังงานหลักของประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า"นายกุลิศ กล่าว

สำหรับแผนพลังงานทั้ง 5 ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) , แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกพ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ,แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 (EEP 2018) , แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561-2580 (Gas Plan 2018) และแผน PDP 2018 Rev.1

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินงานหลากหลายด้านเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น การลดราคาเชื้อเพลิง การคืนงินประกันไฟฟ้า การเร่งก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงการสนับสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บมจ.ปตท. (PTT) ที่เตรียมใช้เงินลงทุนปี 63-65 รวม 1.1 ล้านล้านบาท

ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า การใช้ไฟฟ้าที่ลดลงทำให้สำรองไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 35-40% ตัวเลขหารเฉลี่ยต่อหน่วยไฟฟ้าก็ลดลง ทำให้ต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ร่วมแก้ไขส่วนนี้ ทั้งส่งเสริมการส่งออกไฟฟ้าไปประเทศเพื่อนบ้าน การส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยกฟผ.จะลงทุนสายส่งรองรับส่วนนี้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาทใน5 ปีข้างหน้า รวมทั้งส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชน ทั้งการส่งเสริมห้องเย็นเก็บผลไม้ โดยมีค่าไฟฟ้าราคาพิเศษ รวมทั้งแผนปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบอีกด้วย

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ยอดใช้พลังงานลดลงของไทยลดลง ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่หดตัว โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะลดลง 5% ในปีนี้ ขณะที่ผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ราคาพลังงานลดลง ทั้งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และราคาก๊าซอ่าวไทย ,เมียนมา ก็จะมีผลดีทำให้ราคาก๊าซฯเฉลี่ยผลิตไฟฟ้าลดลงในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้

ขณะที่นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ของปตท. เปิดเผยว่า ความต้องการก๊าซลดลง 7-8% ในช่วงล็อกดาวน์ ขณะที่ปีนี้ปตท.เตรียมนำเข้า LNG จากตลาดจร ซึ่งปัจจุบันมีราคาต่ำเข้ามาจำนวน 11 ลำ ก็คาดว่าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงกว่า 3 พันล้านบาท หรือ 1.50 สตางค์/หน่วย ซึ่งขณะนี้นำเข้ามาแล้ว 7 ลำ โดย 5 ลำแรก ราคาเฉลี่ย 2.50 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ต่ำสุดที่ 1.80 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงกว่า 2 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 1.04 สตางค์/หน่วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ