นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่าแนวโน้มตลาดการเงินทั่วโลกในช่วงที่เหลือของปี 63 ยังคงมีความผันผวน แม้ว่าจะเริ่มเห็นเงินทุนไหลกลับเข้ามาในสินทรัพย์ต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มดีขึ้น และเริ่มมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจกลับมา แตกต่างจากช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาที่ความกังวลโควิด-19 กระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน ทำให้นักลงทุนต่างเทขายสินทรัพย์ต่างๆออกมา ทั้งตราสารหนี้ หุ้น และทองคำ
ภายหลังที่ประเทศไทยสามารถควบคุมโควิด-19 ในประเทศได้ และไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันมากกว่า 50 วัน ส่งผลให้มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์มากขึ้น ผู้ประกอบการต่างๆ สามารถกลับมาเปิดกิจการได้ แม้ว่าจะยังแตกต่างไปจากช่วงก่อนโควิด-19 ก็ตาม แต่ถือเป็นปัจจัยที่หนุนต่อความมั่นใจของนักลงทุนที่เริ่มมั่นใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น จะเห็นได้จากแนวโน้มเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงเดือน มิ.ย.และ ก.ค.นี้ที่ไหลเข้ามากว่า 3 หมื่นล้านบาท และ 1 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ หลังจากในช่วง 5 เดือนแรกของปี 63 เม็ดเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทย 1.5 แสนล้านบาท สะท้อนว่านักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจต่อประเทศไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางการเมืองที่เกิดขึ้นล่าสุดเกี่ยวกับการปรับทีมเศรษฐกิจและคณะรัฐมนตรีใหม่ จะเข้ามาเป็นปัจจัยกดดันต่อความมั่นใจของนักลงทุนในระยะสั้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหลังจากนี้ที่อาจจะเกิดการสะดุดชั่วคราว ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่องจากทีมเศรษฐกิจและคณะรัฐมนตรีชุดเดิม ทำให้นโยบายเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจเดิมมีความไม่แน่นอนว่าจะยังคงทำต่อหรือไม่ โดยเฉพาะโครงการลงทุนของภาครัฐ ที่ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ ทำให้นักลงทุนในและต่างประเทศให้น้ำหนักที่มีผลต่อความมั่นใจ
นอกจากนี้ ยังกังวลว่ามาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 ที่กำลังจะสิ้นสุดในเดือนก.ค.นี้ จะเกิดการสะดุดหรือไม่ หลังจากเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจและคณะรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพราะหากมาตรการการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบอย่างมาก และส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ และสร้างความไม่มั่นใจกับนักลงทุน
"เงินบาทในเช้านี้ที่อ่อนตัวลงค่อนข้างมาก ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจของนักลงทุน เกี่ยวกับความกังวลความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายการคลังที่อาจจะสะดุดและไม่ต่อเนื่อง และมาตรการเยียวยาโควิด-19 กำลังจะหมดในสิ้นเดือนก.ค.นี้แล้ว ถ้านโยบายเกิดการสะดุด อาจจะกระทบประชาชน และกระทบเศรษฐกิจได้ อยากให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่เข้ามาเร่งทำงานให้เร็วและต้องต่อเนื่อง เพราะตอนนี้เราไม่มีเวลาที่จะต้องรออีกแล้ว"นายทิม กล่าว
ส่วนความกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระยอง ถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่ยังต้องติดตาม เพราะยังมีความเสี่ยงต่อการกลับมาแพร่ระบาดโควิด-19 รอบสองในประเทศไทยได้ หากมีการกลับมาแพร่ระบาดโควิด-19 รอบสองในประเทศ และต้องกลับมาล็อกดาวน์ประเทศอีกรอบ จะส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่ธนาคารประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 63 ติดลบ 5% แต่หากไม่เกิดการแพร่ระบาดรอบสองขึ้นทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มฟื้นตัวขึ้น ซึ่งประเมินว่า GDP ไทยในไตรมาส 3/63 จะติดลบ 1% และไตรมาส 4/63 จะอยู่ที่ 0% โดยในไตรมาส 2/63 จะเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจต่ำสุดของปีนี้ที่ติดลบ 13%
"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปก็คงไม่ฟื้นตัวกลับมาเร็ว และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ที่ตัวเลขเศรษฐกิจจะกลับไปจุดสูงสุดเดิมที่ขยายตัว 4% ปี 64 มองว่าขยายตัวได้แค่ 2% ซึ่งต้องดูว่าการผลิตวัคซีนโควิด-19 จะออกมาใช้ได้จริงเมื่อไหร่ หลังจากตอนนี้มีความคืบหน้ามากขึ้น และปัจจัยท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยอยู่ ซึ่งต้องลุ้นว่าภาคท่องเที่ยวจะกลับมาปลายปีนี้หรือตินปีหน้าได้ไหม เพราะจะช่วยเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้"นายทิม กล่าว
ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในเดือนส.ค.นี้ เหลือ 0.25% ต่อปี จากปัจจุบัน 0.50% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก จากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการจำนวนมากในขณะนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้กนง.อาจจะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้ง เพื่อเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความคาดหวังการทำมาตรการ QE จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเพิ่มเติม หลังจากที่ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนต่อตลาดเงินแลขตลาดทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประกอบกับการควบคุมความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่มองว่า ธปท.สามารถดำเนินการได้มากกว่าการลดค่าเงินบาทให้อ่อนค่า ซึ่งในครั้งนี้จะเห็นว่าเป็นครั้งแรกที่ ธปท.จะสามารถทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังได้ และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการคลังจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในภาวะที่เผชิญกับความเสี่ยงเข้ามามาก
สำหรับค่าเงินบาทไทยในสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามา ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และหากประเทศไทยสามารถกลับมาเปิดการท่องเที่ยวได้สำเร็จในช่วงปลายปีนี้ มีโอกาสที่ค่าเงินบาทในสิ้นปี 63 จะแข็งค่าแตะ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนความกังวลหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดวงเงินรวม 3 แสนล้านบาท ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ มองว่าสถานกานณ์หุ้นกู้เริ่มกลับมาดีขึ้นแล้วในปัจจุบัน เพราะเริ่มเห็นผู้ประกอบการออกมาออกหุ้นกู้มากขึ้น และนักลงทุนก็ให้การตอบรับดีในการซื้อหุ้นกู้ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตลาดหุ้นกู้เริ่มฟื้นกลับมา ประกอบกับการมีมาตรการช่วยเหลือจากธปท. ทำให้นักลงทุนยังมีความมั่นใจในการลงทุนในหุ้นกู้กลับมา ซึ่งแตกต่างจากช่วงไตรมาส 1/63 ที่ยังมีความกังวลอยู่มาก