(เพิ่มเติม) กกพ.ลดค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค.63 ลง 0.83 สต./หน่วย แนวโน้มค่าไฟลดในปี 64

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 16, 2020 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือน ก.ย.-ธ.ค.63 ลงอีก 0.83 สตางค์ต่อหน่วย หรือเรียกเก็บค่าเอฟที -12.43 สตางค์ต่อหน่วย สะท้อนต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริง ซึ่งลดลงจากเดิมเรียกเก็บที่ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงเหลือ 3.63 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

"ถึงแม้ว่าภาวะราคาเชื้อเพลิงจะลดลง เนื่องจากวิกฤติ โควิด-19 และทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงก็ตาม แต่ กกพ.ยังคงมีความเป็นห่วงเรื่องปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ซึ่งยังคงเป็นแรงกดดันให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นได้"นายคมกฤช กล่าว

นายคมกฤช กล่าวว่า สาเหตุหลักของการปรับลดค่าเอฟทีงวดนี้ เนื่องมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงก่อนหน้านี้ และมีผลในงวดปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กกพ.ยังคงต้องประเมินปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยังไม่สามารถคาดการณ์ทิศทางปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลในทางลบ และเป็นภาระต่อการประมาณการค่าเอฟทีในงวดถัดไปด้วย

สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟที ในงวด ก.ย.-ธ.ค. 63 ประกอบด้วย

1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.63 เท่ากับประมาณ 58,910 ล้านหน่วย ปรับลดลงจากช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.63 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 69,920 ล้านหน่วย หรือลดลง 15.75% ในขณะที่ความต้องการพลังงานไฟฟ้ารวมในปี 63 อยู่ที่ประมาณ 193,706 ล้านหน่วย ลดลง 1.62% จากปี 62 ซึ่งอยู่ที่ 196,896 ล้านหน่วย

2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.63 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 51.13% ถ่านหิน 17.97% และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 20.15% และอื่น ๆ 10.75%

3. สถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยรวมราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยแต่ละประเภทลดลงจากงวดที่ผ่านมา ตามการปรับลดลงของภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง โดยราคาประมาณการช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.63 เทียบกับประมาณการช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.63 สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติ จากทุกแหล่ง ลดลง 41.27 บาท/ล้านบีทียู มาที่ 221.92 บาท/ล้านบีทียู , ราคาน้ำมันเตา FO กำมะถัน 3.5% ลดลง 2.30 บาท/ลิตร มาที่ 15.99 บาท/ลิตร ,ราคาน้ำมันดีเซล ลดลง 3.66 บาท/ลิตร มาที่ 19 บาท/ลิตร ,ราคาลิกไนต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทรงตัวอยู่ที่ 693 บาท/ตัน และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ย ลดลง 33.40 บาท/ตัน มาที่ 2,454.79 บาท/ตัน

4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (วันที่ 1-31 พ.ค.63) เท่ากับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากประมาณการในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.63 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 31.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บประจำเดือนก.ย.-ธ.ค.63 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 17-23 ก.ค.63 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าตลอดปี 64 หากพิจารณาเฉพาะปัจจัยค่าเชื้อเพลิงก็มีทิศทางที่ค่าไฟฟ้าจะปรับลดลงอีก เพราะราคาก๊าซฯ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีแนวโน้มปรับลดลงเพราะราคาก๊าซฯของไทยอ้างอิงตามต้นทุนราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-8 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.63 ปรับลงมากหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยบางช่วงราคาน้ำมันลงต่ำเหลือเพียง 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็จะมีผลทำให้ราคาก๊าซฯขยับลงตามไปด้วย

สำหรับการพิจารณาค่าเอฟทีในงวดถัดไป (ม.ค.-เม.ย.64) คาดว่าราคาก๊าซฯในอ่าวไทยจะอยู่ที่ประมาณ 170 บาท/ล้านบีทียู จากงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.63 อยู่ที่ราว 179.80 บาท/ล้านบีทียู อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องจับตามองคือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในปีหน้าจะติดลบต่อเนื่องหรือไม่ ขณะที่การใช้ไฟฟ้ามีสัดส่วนราว 0.7-0.8% ของ GDP หาก GDP ติดลบ ก็ทำให้ยอดใช้ไฟฟ้าลดลง ส่งผลต่อสัดส่วนต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากปริมาณการใช้ไฟฟ้าขยายตัวต้นทุนต่อหน่วยก็จะลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ