ผู้ว่า ธปท.ส่งจม.เปิดผนึกถึงคลังแจงละเอียดเงินเฟ้อหลุดเป้าแต่ยังไม่ฝืดคาดกลับเข้ากรอบ Q2/64

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 17, 2020 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และกระทรวงการคลังได้มีข้อตกลงกันไว้ให้ชี้แจงหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนและประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3% โดยยืนยันว่าไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่าขอบล่างของกรอบ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในไตรมาส 2/64 จากนโยบายการเงินการคลังผ่อนคลายต่อเนื่อง โดย ธปท.จะติดตามพัฒนาข้อมูลความเสี่ยงต่างๆ และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในเวลาอันเหมาะสม

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือน มิ.ย.63 อยู่ที่ -1.57% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ก.ค.62-มิ.ย.63) อยู่ที่ -0.31% ประกอบกับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ก.ค.63-มิ.ย.64) ตามรายงานนโยบายการเงินเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ -0.9% ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2563

ดังนั้น กนง.จึงขอชี้แจงว่า สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือน และประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 63 ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวรุนแรง และระยะเวลาของการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง

การแพร่ระบาดในครั้งนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ลดลงมากและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต (supply chain disruption) รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ลดลงมากตามมาตรการควบคุมการระบาดและการว่างงานที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภายหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลงอีกด้วย

บริบทของเศรษฐกิจโลกและไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยย้อนหลัง 12 เดือนอยู่ที่ -0.31% ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ 1.04% และอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน สาเหตุสำคัญมาจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานติดลบต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลง จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลงตามการหดตัวของเศรษฐกิจไทยรุนแรงกว่าคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 63 จะหดตัวที่ 8.1% ลดลงจากประมาณการในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.8% นอกจากนี้ มาตรการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลออีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดปรับเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนตามราคาผักผลไม้และราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจากอุปทานที่ปรับลดลง

ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ได้แก่ (1) ปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะการลดลงของราคาพลังงาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง โดยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลงมาก สอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว (global oil price crash) จากอุปทานส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการแข่งขันด้านราคาและปริมาณการผลิตระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในช่วงต้นปี 63 โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือน ก.ค.62-มิ.ย.63 อยู่ที่ 51.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่อยู่ในระดับ 68.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ มาตรการลดภาระค่าไฟของครัวเรือนเป็นเวลา 3 เดือน รวมถึงการดูแลราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และราคาก๊าซหุงต้มผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ยย้อนหลัง 12 เดือนปรับลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ -8.95%

(2) ปัจจัยด้านอุปสงค์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทย ที่ชะลอลงตามมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง โดยการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวหดตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ถดถอย และมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือน รวมถึงบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกิน (excess capacity) ในหลายอุตสาหกรรม ส่งผลให้การปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการของภาคธุรกิจทำได้ยาก อีกทั้งภาคธุรกิจยังได้จัดรายการส่งเสริมการขาย (promotion) เพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจให้ช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

(3) ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังได้สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มเติมจากพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อาทิ (1) การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce ที่เร่งตัวยิ่งขึ้นจากการปรับตัวของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่หันมาใช้ช่องทาง online มากขึ้นในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 (2) แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (automation) หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อระหว่างลูกจ้างในกระบวนการผลิต และทำให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้เป็นแรงกดดันเงินเฟ้อให้ต่ำลง เพิ่มเติมจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิม เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย เป็นต้น

ในระยะข้างหน้า กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยอาจจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่งและยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ก.ค.63-มิ.ย.64) อยู่ที่ -0.9% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน จากแรงกดดันด้านอุปทานที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาพลังงานโลกยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดลงบ้างในหลายประเทศ แต่ยังคงมีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ

นอกจากนี้ ราคาสินค้ายังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีกำลังการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกตามเศรษฐกิจโลกที่จะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ดี ราคาพลังงานอาจมีแนวโน้มผันผวนสูงตามความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risk) ส่วนราคาอาหารสดชะลอลงจากผลของฐานสูงในปี 62 แต่ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงจากปัจจัยด้านสภาพอากาศ เช่น ภัยแล้ง ที่กระทบต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด ขณะที่แรงกดดันด้านอุปสงค์มีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งจากมาตรการภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนที่ถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นได้บ้างในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาสินค้าและบริการจะปรับเพิ่มอย่างช้า ๆ จากมาตรการของภาครัฐและภาคเอกชนที่ยังคงช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กล่าวไว้ข้างต้น จะยังเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ (deglobalization) และในที่สุดอาจส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตโลกและราคาสินค้าอย่างมีนัยสำคัญได้

ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ ไม่ได้แสดงว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเงินฝืด (deflation risk) โดยพิจารณาจาก 4 เงื่อนไข ได้แก่ (1) ราคาสินค้าและบริการไม่ได้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องยาวนาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางสูงขึ้นและเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 64 (2) ราคาสินค้าและบริการหดตัวเฉพาะในบางประเภท โดยราคาของสินค้าและบริการกว่า 70% ของจำนวนสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นหรือทรงตัว ต่างจากกรณีภาวะเงินฝืดที่ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่จะหดตัว

(3) การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสาธารณชนในระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะ 5 ปีข้างหน้าจากการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือน เม.ย.63 อยู่ที่ 1.8%

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามและประเมินเงื่อนไขสุดท้ายว่า (4) อุปสงค์และการจ้างงานจะไม่ชะลอลงยาวนานต่อเนื่อง หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด โดยจะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทั้งรายได้ การจ้างงาน รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนสื่อสารกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด

แม้ว่าประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า จะอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย แต่ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาส 2/64 โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์จะทยอยปรับดีขึ้นจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและช่วยฟื้นฟูกำลังซื้อของประชาชน ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดและพลังงาน สอดคล้องกับทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

อย่างไรก็ดี กนง. ประเมินว่าปัจจัยด้านอุปทานทั้งจากราคาอาหารสดและพลังงานจะผันผวนสูงตามสถานการณ์ภัยแล้งและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงเศรษฐกิจโลกและไทยที่มีความไม่แน่นอนสูงในการฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าอาจต่างไปจากที่ประมาณการไว้

ในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) กนง. ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ดังนั้น ในการพิจารณานโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนั้น กนง. คำนึงถึงขนาดและสาเหตุของปัจจัยที่เข้ามากระทบ ตลอดจนบริบทและแนวโน้มของเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อกำหนดแนวนโยบายที่จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 กนง.เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มหดตัว และเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่หดตัว และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั่วโลก สำหรับอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวจากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และมาตรการควบคุมโรคระบาดที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงมาก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบและอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

ดังนั้น กนง. จึงมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 63 จาก 1.25% ต่อปีมาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ตั้งแต่เดือน พ.ค.63 และสนับสนุนให้ดำเนินการควบคู่กับการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) จาก 0.46% เป็น 0.23% ของฐานเงินฝากเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายเพิ่มขึ้น และลดต้นทุนทางการเงินให้ภาครัฐและเอกชน รวมถึงสอดรับกับมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการไป ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ กนง.ยังสนับสนุนให้ ธปท.ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และเร่งดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ธุรกิจ รวมถึงผ่อนผันกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่น ๆ อาทิ การผ่อนผันการชำระหนี้โดยไม่เสียประวัติในฐานข้อมูลเครดิต และการลดภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และให้ดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินเพื่อให้ตลาดการเงินมีเสถียรภาพและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและตลาดการเงิน ซึ่งจะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อีกทางหนึ่ง

ในระยะต่อไป กนง.เห็นว่ามาตรการการคลัง มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านสินเชื่อจำเป็นต้องประสานกันอย่างใกล้ชิดให้ตรงจุดและทันการณ์ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจไม่ให้ลุกลามและเร่งกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทหลักที่จำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเติบโตในระยะต่อไป ขณะที่นโยบายการเงินยังจำเป็นต้องผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่งเพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะต่อไป รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากปัญหาสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ

ทั้งนี้ กนง.จะติดตามพัฒนาการของข้อมูลทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประเมินปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อพลวัตเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชน ควบคู่กับการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

กนง.อาจจะมีจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลังอีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้าหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ายังคงเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ