นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิตว่า ขณะนี้มีปัญหาเรื่องการก่อสร้างล่าช้าและผู้รับจ้างขอขยายเวลาในสัญญาที่ 3 (งานระบบอาณัติสัญญาณ) 512 วัน โดยเห็นชอบไปแล้ว 87 วัน ที่เหลืออยู่ระหว่างพิจารณา
ทั้งนี้ ตามแผนเดิมจะมีต้องเปิดเดินรถไฟสายสีแดงในเดือนม.ค.64 ซึ่งหากต่อเวลาก่อสร้างให้ตามที่ผู้รับจ้างขอ จะเสร็จในปี 65 ไม่ใช่ปี 66 ตามที่เป็นข่าว และเชื่อว่าจะยังสามารถปรับแผนการก่อสร้างให้เร็วขึ้นได้อีก
"ผมไม่ได้พูดเรื่องสายสีแดงจะเปิดเดินรถปี 66 จากที่มีนักข่าวมาถาม ผมก็บอกว่าหากให้ขยายเวลาก่อสร้างเต็มที่ตามที่เอกชนขอ 512 วัน ก็ให้บวกเวลาต่อไป แต่ไม่รู้ว่าทำไมจึงเขียนข่าวว่าเปิดปี 66 แต่ไม่เป็นไร ผมยินดีรับก้อนหินทุกก้อนที่ปาเข้ามา" นายศักดิ์สยามกล่าว
พร้อมระบุว่า ในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมร่วมของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อพิจารณาในรายละเอียดปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้า ประกอบกับมีปัจจัยสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มเข้ามา ซึ่งรัฐบาลมีภาระที่ต้องใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีเพดานหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 60% ของ GDP แต่วันนี้อยู่ที่ 58% แล้ว ดังนั้นต้องหาวิธีคิดอื่นในการบริหารโครงการสายสีแดง โดยไม่เป็นภาระงบประมาณ ซึ่งเป็นคำตอบว่าเหตุใดจึงต้องปรับรูปแบบเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP)
ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานที่ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ค่าโดยสารต้องต่ำ รัฐต้องไม่เสียเปรียบ และเอกชนต้องทำโครงการได้ โดยขณะนี้ รฟท.ได้สรุปผลการศึกษาแล้วกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาข้อมูลของ รฟท. ก่อน จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะกรรมการ PPP
รมว.คมนาคม กล่าวว่า การเปิดเดินรถไฟสายสีแดงจะเป็นเมื่อใดนั้น ต้องพิจารณาหลายเรื่อง เช่น ระบบมีความปลอดภัยในการเดินรถแล้วหรือไม่ ศูนย์ควบคุมการเดินรถอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ และยังต้องดูว่ามีประสิทธิภาพในการดำเนินการหรือไม่ การเดินรถต้องคุ้มค่า หากไม่มีเอกชนมาวิ่งจะให้บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด มาเดินรถตามมติ คนร.แล้วขาดทุน ต้องใช้งบประมาณเข้าไปช่วงอุดหนุน ดังนั้นต้องพิจารณาให้รอบคอบทุกประเด็น ยืนยันว่า หากแนวทางไหนทำแล้วเกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศจะทำแน่นอน "ที่บอกว่าสายสีแดงก่อสร้างจะเสร็จแล้ว ต้องถามว่าเสร็จจริงแล้วหรือไม่ เส้นทางจากบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ยังต้องวางระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถอีก และยังมีส่วนต่อขยายอีก นอกจากนี้ผู้รับจ้างยังขอขยายเนื้องานอีก มีวงเงิน10,345 ล้านบาท ซึ่งใช้เงินไจก้าไม่ได้แล้ว จะใช้งบประมาณแผนดินซึ่งคงไม่ได้ ดังนั้นให้ รฟท.ตรวจสอบปริมาณงานที่ขอเพิ่มนี้จำเป็นต้องทำหรือไม่ หากต้องทำ จะใช้เงินจากไหน จึงเห็นว่าควรปรับรูปแบบเป็น PPP ให้เอกชนเข้ามา ซึ่งงานส่วนเพิ่มเอกชนอาจจะดำเนินการไม่ถึงวงเงิน 10,345 ล้านบาทก็ได้" นายศักดิ์สยามกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีสายสีแดงส่วนต่อขยายอีก 3 เส้นทางช่วงรังสิต-มธ. ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. กรอบวงเงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาทที่ต้องลงทุนอีก