นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาค ประจำปี 63 ในหัวข้อ"ก้าวต่อไป...ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัฒน์"โดยระบุว่า ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ถือเป็นสถานการณ์ร้ายแรงแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นจากภาวะด้านสาธารณสุข แตกต่างจากในอดีตที่เป็นสถานการณ์ที่เกิดจากภาวะด้านการเงิน นายวิรไท กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ภาวะของการฟื้นฟูและต้องเร่งปรับระบบโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ หลังจากเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส 2/63 ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ซึ่งเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปคงเป็นลักษณะการทยอยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับปกติเหมือนกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดราวปลายปี 64 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่มีการระบาดรุนแรงซ้ำอีก
อย่างไรก็ดี มองว่าแม้ประเทศไทยจะได้รับผบกระทบจากวิกฤติโควิด แต่ปัจจุบันระบบการเงินมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง และมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ขณะที่การกู้เงินจากต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ กลไกการกำกับดูแลสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมาก มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 เป็นอย่างมาก ดังนั้น เชื่อว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่อย่างใด "แม้ในภาคเศรษฐกิจจริง จะได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้กับปี 40 แต่ภาคการเงิน แตกต่างกันมาก เราไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจาก IMF เพราะเศรษฐกิจมหภาคของเราในปัจจุบันมีความเข้มแข็งมาก สถานะเราไม่ได้เป็นเหมือนปี 40 เรามีกลไกการบริหารเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็ง" ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ