นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการกลุ่มค้าปลีกค้าส่ง กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ"ยุทธศาสตร์ค้าปลีกวิถีใหม่ฝ่า COVID-19" ว่า ค้าปลีกคือการบริการซึ่งจะเปลี่ยนวิถีของเศรษฐกิจชัดเจน ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาไทยโตจากการส่งออก 60-71% ของจีดีพี จึงเป็นการสร้างเพื่อการส่งออก การผลิตเพื่อการส่งออก เพราะฉะนั้น ในอดีตที่เรามีแรงงาน 2 Sector คือภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม เมื่อ 30 ปีที่แล้วย้ายคนจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม แต่อุบัติใหม่คือภาคบริการกำลังเติบโต เพียงแต่เรายังไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบการปรับเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับภาคบริการ
ที่ผ่านมา ธุรกิจที่ประสบปัญหา เช่น การบิน โรงแรม อัญมณี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ แต่ธุรกิจที่ยังมีโอกาส คือ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค ตัวนี้จะมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นเรื่องของการใช้จ่ายภายในประเทศ
"จนถึงสิ้นปีเราติดลบแน่ ถ้ามองแง่ดี -5 แต่หากแง่ลบ -10 บวก แต่เราจะปรับวิถีอย่างไร แบบไหน ตอนนี้ 60% ของการค้าปลีกมาจาก Modern Trade และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศ จากการทำดัชนีค้าปลีก ชี้ว่าในแต่ละภาคความต้องการของประชาชนเป็นอย่างไร อนาคตอันใกล้ของประเทศไทยเป็นอย่างไร"นายสุรงค์ กล่าว
น.ส.สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) กล่าวว่า จากเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป
"โควิดถึงจะเป็นวิกฤติ แต่ก็เป็นโอกาสของโชห่วย ถ้ามีทำเลที่ตั้งใกล้บ้านของลูกค้า และทำให้ร้านตัวเองเป็นโอกาสเพราะทำเลของตัวเองเป็นโอกาสอยู่แล้ว"
ส่วนโชห่วยจะเดินไปอย่างไรต่อในสถานการณ์เช่นนี้ น.ส.สลิลลา กล่าวว่า โชห่วยอาจต้องเลิกขายสินค้าบางชนิดเพราะเทรนด์เปลี่ยน โดยต้องปรับตัวให้ว่องไว ติดตามข่าวสารคือหัวใจ ต้องตามลูกค้าให้ทัน เช่น มีข่าวพบผู้ติดเชื้อใน 1 จังหวัด ความตกใจกลับมา หน้ากากจะมามั้ย เจลล้างมือ การปรับตัวรวดเร็วได้คือการทำให้ยังสามารถขายของได้ การบริหารสต็อกต้องเดินคู่ไปกับการปรับตัวสินค้า ซื้อสินค้าชนิดใหม่ๆ หมุนเข้าหมุนออกให้ทันสถานการณ์
ราคาสำคัญมาก ในยามที่คนจำนวนมากมีรายได้ลดลง สถานการณ์ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น แปลว่าคนจะมีเงินในกระเป๋าน้อยลง ลูกค้าจะซื้อของน้อยลง ซื้อของคิดแล้วคิดอีก การตั้งราคาก็ต้องเหมาะสมกับที่ลูกค้ากำลังมองหา สิ่งที่เราไปซื้อมาขายก็ต้องดูว่าตรงไหนต้นทุนดี นำมาขายสร้างกำไรได้
"จุดสำคัญของโชห่วยคือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ต่อจากนี้ลูกค้าที่ในชุมชนยังเหมือนเดิมไหม ยังมีรายได้เหมือนเดิมไหม จะช่วยได้อย่างไร ให้ลูกค้าซื้อสินค้าราคาถูก กลับไปใช้ กลับไปขายต่อได้ เราจะช่วยเพื่อนบ้านรอบบ้านเราได้อย่างไร ถ้าโชห่วยซึ่งก็เป็นลูกค้าเราไปไม่รอดเราเองก็ไม่รอด เพราะฉะนั้นต้องรอดไปด้วยกันไม่ว่าจะเป็นช่วงโควิดหรือหลังโควิด"น.ส.สลิลลา กล่าว
นายวีระชัย ตู้วชิรกุล ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาร้านค้าปลีก และ แม็คโคร บมจ. สยามแม็คโคร (MAKRO) กล่าวว่า ความรู้พื้นฐานการจัดการร้านค้าปลีก 8 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จที่เจ้าของร้านค้าปลีก โชห่วยต้องรู้ คือ ทำเลที่ตั้ง, ความแตกต่าง, สต็อกสินค้า, การเลือกสินค้า, ส่งเสริมการขาย, ราคาและกำไร, ผังร้านและจัดเรียง, การแต่งร้าน
ในสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นโชห่วยต้องปรับตัวจึงจะได้ไปต่อ อย่างแรกคือความสะอาด ปลอดภัย เป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกดูแลร้านให้สะอาด ลดการสัมผัส การใส่หน้าก ล้างมือบ่อยๆ ทำป้ายโปสเตอร์แปะที่ร้าน
รวมถึงการบริหารจัดการสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ของลูกค้ายุค New Normal ซึ่ง 4 พฤติกรรมที่จะกลายเป็น New Normal ของผู้บริโภคหลังจบโควิด-19 คือ 1.คุ้นชินกับดิจิทัล สแกน อีเพย์เมนต์ ปรับตัวรองรับการจ่ายเงินด้วยอีเพย์เมนต์ 2.ทำอาหารกินเองในครอบครัวมากขึ้น 3.ใส่ใจสุภาพและคุณภาพสินค้ามากขึ้น 4.ติดตามข่าวสารทางโซเชียลมีเดียบ่อยขึ้น
นอกจากนี้ การจัดการร้านให้เหมาะสมกับสถานการณ์ New Normal เช่น ทางเดินภายในร้านต้องกว้าง 90 ซม. ทางเดินระหว่างตู้แช่ต้องกว้าง 1.20 เมตร ชั้นวางกลางร้านสูงไม่เกิน 150 ซม. ชั้นวางริมผนังสูงไม่เกิน 180 ซม. ตู้แช่น้ำแข็งและตู้แช่ไอศกรีมควรอยู่หน้าร้าน การจัดเรียงสินค้าตามระดับความสูง ขนาด และน้ำหนักของสินค้า, จัดเรียงสินค้าให้มีความต่อเนื่องตามหมวดหมู่ของสินค้า เช่น ผงซักกฟอกคู่น้ำยาปรับผ้านุ่ม ยาสีฟันให้อยู่ใกล้แปรงสีฟัน แยกประเภทสารเคมีและอาหารออกจากกัน