นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK)กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทที่เกิดขึ้นในขณะนี้แสดงให้เห็นว่าการบริหารจัดการของไทยมีปัญหา เพราะเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค โดยหากดูจากเดือน ม.ค.-13 ก.ค.เงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 18.9% มากกว่าเงินสกุลอื่น
"สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยบริหารเงินสู้ใครไม่ได้ ที่ไปโทษว่าบาทแข็งเพราะดอลล์อ่อนจริงๆ แล้วจริงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แต่ที่บาทแข็ง เพราะเราบริหารค่าเงินไม่ได้มากกว่า"นายณรงค์ชัย กล่าวในการสัมมนา"วิกฤติค่าเงินบาท:แนวทางการและการแก้ไข"
สาเหตุเกิดภาวะเข้าขั้นวิกฤติเพราะค่าเงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป จาก 3 ม.ค.เงินบาทอยู่ที่ 36.10 บาท/ดอลลาร์ กับตอนนี้แข็งค่ามาที่ 33.40 บาท/ดอลลาร์ ภายในเวลาเพียงครึ่งปีค่าเงินบาทหายไปถึง 3 บาท
นายณรงค์ชัย เห็นด้วยกับแนวทางที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ลดอัตราดอกเบี้ยรวดเดียว 1.0-1.5% ไม่ใช่การทยอยปรับลดคราวละ 0.25% เพื่อให้การลดดอกเบี้ยส่งผลทำให้บาทอ่อนค่าลงในทันที
"เชื่อว่า ธปท.ทำได้ เพราะเราจำเป็นต้องทำเพื่อ break expectation ถึงโดน IMF ดุก็ต้องยอม...การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นตัว break การขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่การลดดอกเบี้ยจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายณรงค์ชัย กล่าว
นายณรงค์ชัย กล่าวต่อว่า ค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากเป็นระดับที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่อยู่ได้ เพราะฉะนั้นทางการจะต้องใช้ความใจถึง และต้องอาศัยความเข้าใจด้วย โดยมั่นใจว่าการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทในขณะนี้จะไม่เกิดอันตราย สิ่งสำคัญ คือ ธปท.และกระทรวงการคลังต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
อย่งไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะดูแลค่าเงินบาทในขณะนี้ แต่ทางการควรต้องกำหนดเป้าหมายการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมนั้น ในด้านการลงทุนขณะนี้แทบจะไม่มีอยู่แล้ว แต่ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะเชื่อว่าในที่สุดก็จะมีการลงทุนเกิดขึ้น แต่สิ่วที่น่ากังวลมากคือ วิกฤติในด้านงบดุลของผู้ประกอบการ จำเป็นต้องดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับในญี่ปุ่น
ส่วนเรื่องอัตราเงินเฟ้อ นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ข้อเสนอตามที่กล่าวมาคงไม่ได้ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เพราะทางการสามารถออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องได้ แต่ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมัน พร้อมกับยืนยันว่า 5 ปีที่ผ่านมา เรื่องอัตราเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาสำคัญของโลก เพราะสามารถบริหารจัดการได้
"ผม 2 คนไม่เชื่อเรื่อง Inflation Targeting เรื่องนี้อาจจะมีประโยชน์ก็จริง แต่เวลานี้ให้เลิกคิดได้แล้ว เราควรต้องคิดถึงเรื่องการป้องกันวิกฤติก่อน" นายณรงค์ชัย กล่าว
"การทำอะไรอย่าทำครึ่งๆกลางเพราะจะขาดทุน ถ้าทำก็ให้ทำเต็มที่ไปเลยรับรองไม่มีขาดทุน" นายณรงค์ชัย กล่าว
นายณรงค์ชัย ยังเห็นว่า การที่ภาครัฐออกมาบอกว่าให้ภาคเอกชนปรับตัว ซึ่งภาคเอกชนเองเขาก็ปรับตัวอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ค่าเงินกลายเป็นเรื่องระดับชาติไปแล้ว แต่ยังไม่เห็นระดับรัฐบาลดำเนินการอะไร ขณะที่ผู้ประกอบการออกมาเรียกร้องและประชุมหารือถึงเรื่องนี้กันทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนเดือดร้อนจริงๆ
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--