นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน " ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา" ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ครั้งที่ 5/2563 (ครั้งที่ 7) วันนี้ว่า ที่ประชุมมีการรับทราบความคืบหน้า ดำเนินงานของคณะทำงานฯ ซึ่งได้ดำเนินงานขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่หน่วยงานจะต้องนำมารื้อย้ายสาธารณูปโภค ซึ่งผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อยู่ระหว่างการของบประมาณ โดยอยู่ระหว่างการเสนอโครงการที่วงเงินเกิน 100 ล้านบาทให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ
ทั้งนี้ในเรื่องของที่ดินรถไฟ มีส่วนของเวนคืน อยู่ระหว่างสำรวจรายละเอียดที่ดินสิ่งปลูกสร้าง และพูดคุยกับประชาชน รวมถึงตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและค่าทดแทนแล้ว ตามแผนจะใช้วิธีการเจรจา คาดว่าเดือนพ.ย.นี้จะมีการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน และจ่ายค่าทดแทนและรับมอบที่ดินจากเจ้าของที่ดินก.พ. 64 และส่งมอบที่ดินให้ กลุ่มซีพีได้ทันที
โดยที่ดินที่มีผู้บุกรุก แบ่งเป็น 2 ช่วง ดอนเมือง –สุวรรณภูมิรวม 267 หลังคาเรือน สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 302 หลังคาเรือน ทางรฟท.ได้ดำเนินการ ฟ้องร้องดำเนินการคดี ตามกฎหมาย ส่วนที่ดินที่ต้อง ยกเลิกสัญญาเช่า มีทั้งหมด 213 สัญญา แบ่งเป็นช่วงดอนเมือง-พญาไท จำนวน 100 สัญญา ตามแผนจะแล้วเสร็จในเดือนธ.ค. 63 ส่วนช่วงลาดกระบัง-อูตะเภา จำนวน113 สัญญา แล้วเสร็จในเดือนต.ค. 63
ส่วนการขออนุญาตเข้าพื้นที่ต่อหน่วยงานเจ้าของพื้นที่เพื่อรื้อย้ายสาธารณูปโภคในกรณีเร่งด่วน ซึ่งผู้ว่าการ รฟท. ได้มอบอำนาจให้คณะทำงานเฉพาะกิจของรฟท. พิจารณาการอนุญาตและการอนุมัติให้ใช้พื้นที่ที่เกี่ยวข้องสาธารณูปโภคในโครงการฯ นี้ เป็นการเฉพาะเพื่อความรวดเร็วในการทำงานแล้ว ในส่วนของกรมทางหลวง(ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ซึ่งมีหลายหน่วยงานต้องเข้าพื้นที่เพื่อรื้อย้ายสาธารณูปโภค ได้เน้นย้ำให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ให้ข้อแนะนำในเรื่องของเอกสารประกอบการขออนุญาตเข้าพื้นที่ และให้อำนวยความสะดวกการเข้าพื้นที่
กรณีขอขยายเขตทางเพิ่มเติม ซึ่งต้องเวนคืนที่ดินเพิ่ม 6 จุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 48 ราย รวมจำนวนที่ดิน 63 แปลง จะสำรวจแล้วเสร็จและสรุปข้อมูลภายในส.ค.63 ทั้งนี้จะต้องพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย
โดยที่ดินเวนคืน 6 จุด ได้แก่ บริเวณสถานีลาดกระบัง บริเวณทางออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริเวณประตูน้ำของกรมชลประทาน บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง บริเวณอุโมงค์เขาชีจัน และบริเวณทางเข้าสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามแผนภายในเดือนก.ย.64
สำหรับ การดำเนินงานของส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์นั้น บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ได้รายงานว่า ได้จัดทำแผนการปรับปรุงต่างๆ รวม 5 เรื่อง โดยจะใช้เวลา 16 เดือน ตั้งแต่ มิ.ย.63 แล้วเสร็จ ในเดือนก.ย.64 และรับมอบและเริ่มบริหารจัดการเดินรถได้ในเดือนต.ค. 64 โดยการให้บริการจะต้องไม่มีรอยต่อ
โดยที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯได้เริ่มตรวจสอบทางเทคนิคของระบบรถไฟฟ้าและจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค. 63 และทำแผนในการปรับปรุงงานบริการ อาคารสถานี ปรับระบบเพื่อรองรับการเดินรถ เบื้องต้นทาง ซีพี ได้นำเสนอแผนงานในการปรับปรุงสถานี บริการต่างๆ ให้ดีขึ้น รวมถึงการปรับปรุงคืนสภาพทรัพย์สิน อาคารสถานีให้ดีเพื่อใช้ประโยชน์ในระยะยาว