นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการจดทะเบียนธุรกิจในเดือนมิ.ย.ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 5,731 ราย เพิ่มขึ้น 145 ราย จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 3% และเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. 63 เพิ่มขึ้น 1,536 ราย คิดเป็น 37%
มูลค่าทุนจดทะเบียน ในเดือนมิ.ย. 63 อยู่ที่ 14,757 ล้านบาท โดยจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,323 ราย คิดเป็น 75.43% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,326 ราย คิดเป็น 23.14% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 69 ราย คิดเป็น 1.20% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 13 ราย คิดเป็น 0.23% ตามลำดับ
ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 612 ราย คิดเป็น 11% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 271 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 188 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนมิ.ย.63 เพิ่มขึ้น เพราะการคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และนักธุรกิจ มั่นใจในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยมีธุรกิจที่น่าจับตา คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร ที่ตั้งใหม่มากเป็นอันดับ 3 จากปกติจะเป็นธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าออนไลน์และบริการขนส่งสินค้าจากการซื้อขายออนไลน์
"ยอดการตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนมิ.ย.63 ที่เพิ่มขึ้น มาจากการที่ผู้ประกอบการที่ชะลอการตัดสินใจทำธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ตัดสินใจตั้งธุรกิจใหม่ตามแผนที่ได้วางไว้ หลังจากรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ และมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่พบว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กมากถึง 99%" นายวุฒิไกรกล่าว
ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.63) มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 33,337 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 74 ราย หรือคิดเป็น 0.2% จากช่วงครึ่งปีของปีก่อน (ก.ค.-ธ.ค.62) ที่มีจำนวน 33,263 ราย แต่ลดลงจำนวน 4,885 ราย หรือคิดเป็น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-มิ.ย.62) ที่มีจำนวน 38,222 ราย
ขณะที่มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในครึ่งปีแรกของปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 104,571 ล้านบาท ลดลง 105,137 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50% จากช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อนที่มีจำนวน 209,708 ล้านบาท และลดลง 13,185 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 117,756 ล้านบาท ลดลงจำนวน 13,185 ล้านบาท คิดเป็น 11%
ด้านจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือน มิ.ย.63 มีจำนวน 1,336 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 5,132 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 111 ราย คิดเป็น 8% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 69 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 36 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ
หากแบ่งตามช่วงทุน พบว่า จำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 923 ราย คิดเป็น 69.09% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 350 ราย คิดเป็น 26.20% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 59 ราย คิดเป็น 4.41% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 4 ราย คิดเป็น 0.30% ตามลำดับ
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ธุรกิจที่ยังดำเนินกิจการทั่วประเทศ ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 มีจำนวน 765,775 ราย มูลค่าทุน 18.44 ล้านล้านบาท จำแนกเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 186,682 ราย คิดเป็น 24.38% บริษัทจำกัด 577,822 ราย คิดเป็น 75.46% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,271 ราย คิดเป็น 0.16% ตามลำดับ
หากแบ่งตามช่วงทุน พบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 452,511 ราย คิดเป็น 59.09% รวมมูลค่าทุน 0.40 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.17% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 225,544 ราย คิดเป็น 29.45% รวมมูลค่าทุน 0.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.07% ช่วงถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 71,858 ราย คิดเป็น 9.39% รวมมูลค่าทุน 1.95 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.57% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15,862 ราย คิดเป็น 2.07% รวมมูลค่าทุน 15.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.19% ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มการจดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งหลังปี 63 คาดว่า จะดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และมาตรการการเงิน ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย การเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ขณะที่ภาคเศรษฐกิจจะเริ่มตอบสนองต่อมาตรการของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
นายวุฒิไกร กล่าวว่า ในเดือนมิ.ย. มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 56 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 22 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 34 ราย โดยมีนักลงทุนต่างชาติลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 11 ราย หรือคิดเป็น 24% และมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 11,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 87 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.77%
โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 386 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 623 ล้านบาท และจีน จำนวน 2 ราย เงินลงทุน 330 ล้านบาท
ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.63) มีคนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจำนวน 355 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 58,407 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น 22 ราย หรือคิดเป็น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-มิ.ย.62) และมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3,653 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7%
ธุรกิจที่ต่างชาติเข้ามาดำเนินการเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ และนโยบายในการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และบริการให้คำปรึกษาแนะนำและตรวจสอบการทำงานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และบริการออกแบบพร้อมติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ รวมทั้งซ่อมแซมบำรุงรักษาสินค้าประเภทแผงโซล่าเซลล์ เป็นต้น