(เพิ่มเติม) "โฆสิต"-คลัง-ธปท.เสนอทางรับมือบาทแข็งให้นายกฯศุกร์นี้/หนุนลดดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 17, 2007 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม ระบุว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะร่วมกันดูแลและติดตามค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยในสัปดาห์นี้จะรวบรวมมาตรการทั้งของธปท. และจากข้อเสนอของเอกชนมาหาข้อสรุป เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในวันศุกร์นี้ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวสนับสนุนให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะยังมีช่องทางที่ทำได้อีกเล็กน้อย
นายโฆสิต กล่าวว่า ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้จะไม่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 40 เพราะรัฐบาลจะติดตามสถานการณ์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีสั่งให้มีการรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าเงินบาททุกวันศุกร์นับจากนี้ไป ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 4% ตามเป้าหมาย
"ยังไม่วิกฤติเพราะเข้าใจว่าตราบใดที่ทุกฝ่ายยังช่วยกันทำงาน เราจะทำให้เกิดความมีเสถียรภาพได้ เราเชื่อว่าจะฟันฝ่าเหตุการณ์ที่วิกฤติไปได้ อัตราการขยายตัว(ปีนี้)น่าจะเป็นไปได้ 4% ตามเป้า"นายโฆสิต แถลงภายหลังการประชุมครม.ร่วมกับนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะดูแลปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทอย่างเต็มที่
นายโฆสิต กล่าวว่า ในด้านความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ธปท.และกระทรวงการคลังจะร่วมมือกันติดตามดูแล อีกด้านหนึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมจะดูแลส่วนที่จะต้องประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐบาล หรือรัฐบาลกับเอกชน
"ขณะนี้เราพูดได้เพียงว่าเราไม่ประมาท และเราไม่อยกาเห็นความผันผวนที่รวดเร็ว เพราะฉะนั้นแนวทางกว้าง ๆ คือ เราไม่ฝืนตลาดและใช้เครื่องมือเต็มที่ ถ้าของธปท. ใช้แล้ว และจำเป็นจะใช้มากกว่านั้นกระทรวงการคลังก็จะต้องเข้าไป หรือภาคส่วนอื่น ๆ ก็จำเป็น"นายโฆสิต กล่าว
แนวทางคร่าว ๆ คือ เมื่อได้รับข้อเสนอจากเอกชนแล้ว ภายใน 1-2 วัน ผู้ว่าการธปท.จะเสนอความเห็นมายังรมว.คลัง และนำมาหารือร่วมกันในวันพฤหัสบดี ก่อนจะนำข้อสรุปรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบในวันศุกร์นี้ จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวันที่ 23 ก.ค.และเสนอเข้าครม.ในสัปดาห์หน้า
"เรื่องที่ได้รับข้อเสนอมาแล้วบางเรื่องที่ได้ก่อนก็จะทำ ใน 2 วันนี้โดยท่านรัฐมนตรีคลังจะเป็นผู้ตัดสิน เรื่องอะไรที่จะต้องหารือกันอีก จะมีช่องที่จะคุยกันวงเล็ก ๆ ในวันพฤหัสบดี และนำเสนอท่านนายกฯในวันศุกร์"นายโฆสิต กล่าว
นายฉลองภพ กล่าวว่า ธปท.จะรวบรวมและนำเสนอมาตรการที่จะดูแลค่าเงินบาทในวันพรุ่งนี้ โดยมาตรการที่ได้มีการกล่าวถึงมาก่อนหน้านี้ ก็จะเน้นการเพิ่มความต้องการเงินตราต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการไหลออกของเงินให้ง่ายขึ้น และจะต้องเป็นมาตรการยืดหยุ่นที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทีเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
"ในอดีตต้องดูแลการไหลออกของเงิน แต่ ณ วันนี้เราต้องการมาตรการที่ช่วยเสริมเงินไหลออก เพื่อลดแรงกดดันอัตราแลกเปลี่ยน เพราะฉะนั้นเป็นจังหวะเหมาะที่จะนำมาพิจารณาปฏิบัติได้ แต่จะต้องดูว่าจะป็นการปฏิบัติเชิงที่มีความยืดหยุ่น และพร้อมปรับเปลี่ยนเมื่อสถานการณืเปลี่ยนแปลงไป"นายฉลองภพ กล่าว
*"โฆสิต"หนุนลดดอกเบี้ยแก้บาทแข็ง/"ฉลองภพ"ระบุไม่ใช่สูตรสำเร็จ
นายโฆสิต กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ตามที่มีหลายฝ่ายเสนอแนะแนวคิดมา เพราะเห็นว่ายังมีช่องทางที่จะทำได้อีกเล็กน้อย แต่เรื่องนี้ก็ขึ้นกับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันพรุ่งนี้
ขณะที่นายฉลองภพ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และ ณ วันนี้ดอกเบี้ยของประเทศอื่นเริ่มปรับขึ้นไปแล้ว ช่วงว่างของอัตราดอกเบี้ยเริ่มห่างออกไป การลดดอกเบี้ยอาจมีส่วนช่วยให้บาทอ่อนได้บ้าง แต่ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะช่วยได้ทั้งหมด ต้องเป็นการช่วยในหลาย ๆ ด้านอย่างละนิดอย่างละหน่อย ถ้าทุกอย่างไปในแนวทางเดียวกัน ก็จะทำให้การดูแลสถานการณ์ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่กนง.จะต้องพิจารณาจากข้อมูลด้านเศรษฐกิจล่าสุด
"เงินที่ไหลเข้ามาในประเทศไม่ได้เข้ามาเพื่อกินส่วนต่างดอกเบี้ยแต่เป็นเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดทุน เรื่องค่าเงินธปท.คงดูแลอยู่แล้ว ส่วนดอกเบี้ยจะลด 1-1.5%ได้หรือไม่เป็นเรื่องของกนง." รมว.คลังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีสูตรสำเร็จในการดูแลค่าเงินบาทว่าจะลดดอกเบี้ยหรือทำอะไรอย่างไร โดยมาตรการจะออกมาเป็นแพคเกจ แต่กระบวนการบริหารจัดการต้องเน้นให้ทันต่อสถานการณ์
"ถ้าการเปลี่ยนแปลงมันเร็ว แต่ระบบในการที่เราจะรับมือกับเหตุการณ์ไม่เร็วเท่ามันก็มีปัญหา"
สิ่งสำคัญคือ ต้องให้เครื่องมือที่มีอยู่ทำงานเต็มที่ และหากมีมาตรการอื่นมาช่วยลดแรงกดดันจากเงินไหลเข้าก็จะช่วยอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนในระยะปานกลาง กระทรวงการคลังก็จะมีมาตรการเข้ามาช่วยเสริมทั้งการดูดซับสภาพคล่องจากระบบ หรือการดูแลการซื้อหรือขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะต้องประสานงานกันในด้านปฏิบัติมากขึ้น
"จากนี้ไปน่าจะมีความสามารถในการดูแลความผันผวนได้ดีขึ้น แตรียมตัวกับความผันผวนในอนาคตที่อาจะเกิดกับเงินไหลออก ตัองพยายามเตรียมพร้อมไว้ทุกมิติ"นายฉลองภพ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ