นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) เปิดเผยว่า ได้เสนอแนวทางช่วยเหลือแรงงานให้นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พิจารณา โดยให้กองทุนประกันสังคมนำเงิน 40,000 ล้านบาทฝากกับธนาคารของรัฐบาล เช่น ธนาคารออมสิน และ กรุงไทย เพื่อให้ธนาคารรัฐปล่อยสินเชื่อกับสมาชิกกองทุนที่มี 9 ล้านคน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 7.5% ต่อปี เพื่อลดปัญหาการกู้เงินนอกระบบที่จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ยเดือนละ 5% หรือ สินเชื่อนอนแบงก์ที่ดอกเบี้ย 17-18% ต่อปี จนสร้างความเดือดร้อนเพราะต้องรับภาระอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป
“กองทุนประกันสังคมมีเงินประมาณ 400,000 ล้านบาท เบื้องต้นให้กองทุนแบ่งเป็น 40,000 ล้านบาทไปฝากธนาคารรัฐโดยกองทุนได้ผลตอบแทน 3.5% ขณะที่แบงก์รัฐปล่อยกู้คนงานในอัตราดอกเบี้ยถูก 7.5% ซึ่งก็ต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ย 5% ต่อเดือน, นอนแบงก์ 17% ต่อปี หรือ ธนาคารประชาชนที่ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน เบื้องต้นรองนายกฯ ไพบูล และ เลขาธิการกองทุนประกันสังคม เห็นด้วย เหลือเพียงแต่ รมว. แรงงานที่ยังไม่มีโอกาสได้หารือกัน"นายณรงค์ กล่าว
สำหรับกองทุนฯ จะได้ผลตอบแทน 3.5% จากการฝากเงินกับธนาคาร ส่วนสมาชิกที่กู้เงินจะได้ 2 เท่าของเงินเดือน และกำหนดคืนภายใน 2 ปี แต่มีเงื่อนไข 3 ประการ คือ ให้นายจ้างหักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้กับสถาบันการเงินเหมือนกรณีของข้าราชการ, ให้ผู้กู้ที่เป็นสมาชิกค้ำประกันกันเองเป็นกลุ่ม และ ผู้กู้ต้องยอมให้หักเงินที่กู้ออก 10% เช่น กู้ 10,000 บาท ถูกหัก 1,000 บาท เพื่อนำเงินส่วนนี้ฝากไว้กับสถาบันการเงิน โดยให้จัดตั้งองค์กรที่เข้ามาดูแลเงินส่วนนี้ ซึ่งเจ้าของเงินได้รับดอกเบี้ยตามปกติ และถือว่าเป็นการส่งเสริมการออมด้วย
ทั้งนี้เมื่อครบ 2 ปี องค์กรจะมีเงินที่หักไว้ 10% รวมกันทั้งหมด 4,000 ล้านบาท จากนั้นจะนำเงินดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นธนาคารลูกจ้าง เพื่อปล่อยกู้กับลูกจ้างในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินสนับสนุนภาครัฐในการอุดหนุน ขณะเดียวกันลูกจ้างที่ถูกหักเงิน 10% จะเป็นเจ้าของธนาคารในฐานะผู้ถือหุ้น และมีผลตอบแทนจากกำไรของธนาคารด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/พรเพ็ญ โทร.0-2253-5050 ต่อ 313 อีเมล์: pornpen@infoquest.co.th--