ออมสิน ประกาศวิสัยทัศน์พลิกบทบาทสู่ Social Bank แทรกตัวเข้าตลาด Non-Bank,ต่อเวลาพักหนี้ถึงสิ้นปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 23, 2020 13:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประกาศวิสัยทัศน์ในการนำธนาคารออมสินปรับบทบาทมุ่งสู่การเป็น Social Bank หรือ "ธนาคารเพื่อสังคม" อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) และองค์กรชุมชน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หลุดพ้นจากความยากจน ยกระดับรายได้ ต่อยอดเป็นผู้ประกอบการรายย่อย สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

ปัจจุบัน ธนาคารฯ มีฐานลูกค้า 3 กลุ่มหลักนี้ถึง 12.8 ล้านราย หรือ 61.6% ของจำนวนลูกค้ารวม

นายวิทัย กล่าวว่า ธนาคารจะปรับภารกิจและกระบวนการทุกด้านของธนาคารให้สอดคล้องกับการเป็น Social Bank เพื่อมุ่งให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ขณะที่การทำภารกิจเชิงพาณิชย์จะเป็นกิจการรอง เพื่อสร้างกำไรที่จะนำมาอุดหนุนภารกิจด้านสังคม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินด้วยการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าการเติบโตด้วยปริมาณ ซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Banking)

ภารกิจแรกคือการนำธนาคารออมสินเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank อย่างเต็มตัวภายใต้การเป็น Social Bank ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดในปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย/ผู้มีรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บรรเทาภาระดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ และมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่ลูกค้ากลุ่มฐานรากใช้บริการ Non-Bank ได้แก่ สินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น ซึ่งคิดอัตราในระดับสูงถึง 24-28% ต่อปี หรืออาจจะมากกว่านี้ โดยมีเป้าหมายจะลดภาระดอกเบี้ยของผู้กู้ลงให้ได้ 8-10% ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายใน 6 เดือนจากนี้

"ภายใน 6 เดือน ธนาคารฯ จะแทรกเข้าไปในตลาด Non-Bank ที่มีมูลหนี้อยู่ 5 แสนล้านบาท เราต้องการเห็นดอกเบี้ยลดลง 8-10% โดยธนาคารฯ จะเข้าไปรีไฟแนนซ์สินเชื่อส่วนนี้ออกมา ก็หวังว่าจะช่วยทำให้ดอกเบี้ยของ Non-Bank ลดต่ำลงในที่สุด ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยคนได้จำนวนมาก" ผู้อำนวยการธนาคารออมสินระบุ

นอกจากนี้ ธนาคารฯ จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยที่มุ่งเป้าช่วยเหลือสร้างธุรกิจ โดยรวบรวมองค์ความรู้ในทุกด้านที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพและการทำธุรกิจ อาทิ กลุ่ม Street Food, กลุ่ม Homestay เป็นต้น เริ่มจากการให้ข้อมูลเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม การคัดเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การวางกลยุทธ์การตลาด และสร้างช่องทางการขาย/การหาลูกค้า ไปจนถึงการให้สินเชื่อ และการร่วมทุน โดยธนาคารออมสินจะเป็นหน่วยงานรัฐแห่งแรกที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืน

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า Digital Banking จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ Social Bank ให้ประสบความสำเร็จ โดยจะถูกปรับบทบาทให้เข้ามาช่วยสนับสนุนงานของสาขา และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องปรับตัวสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ธนาคารฯ จึงเตรียมพัฒนาบริการลักษณะเฉพาะ หรือ Feature ใหม่ ๆ บนแอปพลิเคชัน MyMo เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปสาขาแต่สามารถใช้บริการบนโทรศัพท์มือถือได้ อาทิ บริการปรับโครงสร้างหนี้ การให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending ตลอดจนบริการเปิดบัญชีเงินฝาก (e-KYC) อีกด้วย ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ไปเช่นกัน

สภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกต่อไปอีก ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้กิจการค้าขาย/บริการ ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก จำเป็นต้องมีการปรับตัว ธนาคารออมสินจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับบทบาทของธนาคารออมสินมุ่งสู่ Social Bank จะเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้การใช้ชีวิตวิถีใหม่มีต้นทุนที่ลดลง ช่วยบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนและลูกค้าของธนาคารฯ ได้" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

นายวิทัย เปิดเผยอีกว่า ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารออมสินได้มีมติเห็นชอบในการขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ออกไปอีก 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือนธ.ค.63 จากเดิมที่มีระยะเวลาดำเนินการช่วงเดือนเม.ย-ก.ย.63 โดยธนาคารฯ จะให้สิทธิลูกค้าสามารถเลือกที่จะรับการพักชำระหนี้ หรือไม่ขอรับการพักชำระหนี้ก็ได้หากลูกค้ายังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามปกติ

"หากลูกค้าเลือกจะขอพักชำระหนี้ เราก็จะมีทางเลือกให้อีก ว่าจะพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือจะจ่ายแต่ดอกเบี้ยแล้วพักชำระเงินต้น หรือจะทยอยจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในแต่ละงวด หรือจะรอรวมไว้ชำระงวดสุดท้ายงวดเดียว ซึ่งธนาคารฯ จะแจงให้ลูกค้าเห็นถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากแต่ละทางเลือกว่าจะเป็นอย่างไร" ผู้อำนวยการธนาคาออมสินระบุ

ข้อมูลล่าสุดจนถึงปัจจุบัน ธนาคารฯ ได้พักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้าไปแล้วราว 3.1 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการพักชำระหนี้ทั้งในส่วนของสินเชื่อบุคคล, สินเชื่อเคหะ และสินเชื่อ SMEs

สำหรับโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการ คือ 1.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย วงเงิน 40,000 ล้านบาท ที่เป็นสินเชื่อฉุกเฉิน ให้กู้คนละไม่เกิน 10,000 บาท และเสินเชื่อพิเศษ ให้กู้คนละไม่เกิน 50,000 บาท และ 2.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนนั้น ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 19 ก.ค.63 อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 1.15 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 14,200 ล้านบาท

ส่วนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 150,000 ล้านบาทนั้น มีการอนุมัติไปแล้ว 14,800 ราย คิดเป็นวงเงิน 136,800 ล้านบาท

นายวิทัย กล่าวว่า ธนาคารฯ เตรียมจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้นำเสนอกระทรวงการคลังไปแล้ว และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

ปัจจุบัน ธนาคารออมสินมีสินทรัพย์รวม 2.89 ล้านล้านบาท มียอดสินเชื่อ 2.2 ล้านล้านบาท ขณะที่ผลกำไรในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5,229 ล้านบาท โดยประเมินว่าสิ้นปี 63 จะมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าในปี 62 ที่มีผลกำไร 24,200 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้ธนาคารฯ ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยการลดดอกเบี้ยในมาตรการต่างๆ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นการตอบแทนสังคม และช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ