ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE Price Index เดือนมิ.ย. ดัชนีราคาบ้านเดือนพ.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และจีดีพีไตรมาส 2/63 (ครั้งที่ 1) นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามข้อมูล PMI เดือนก.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน
สำหรับวันศุกร์ (24 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.72 (หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 31.86) ทรงตัวจากระดับปิดในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 ก.ค.) ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทตลอดสัปดาห์ยังคงเป็นกรอบแคบ โดยเงินบาทมีปัจจัยกดดันด้านอ่อนค่าจากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ ประกอบกับทิศทางของสกุลเงินเอเชียถูกกระทบเป็นระยะจากสัญญาณที่มีความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดีแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงที่สินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวจากข่าวการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทไว้ได้บางส่วน