นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามนโยบาย ‘เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด’ ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยให้พร้อมสำหรับความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุด หรือ อาร์เซ็ป ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจ ครอบคลุมประชากรกว่า 3,600 ล้านคน หรือร้อยละ 48.1 ของประชากรโลก
โดยขณะนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปอยู่ระหว่างขั้นตอนการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ก่อนที่ประเทศสมาชิกจะร่วมลงนามความตกลงในเดือนพฤศจิกายน 2563 จึงต้องเตรียมความพร้อมเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยให้สามารถปรับตัว และใช้ประโยชน์จากความตกลงให้ได้มากที่สุด
นางอรมน เพิ่มเติมว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากผลการเจรจาอาร์เซ็ป ขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย ซึ่งความตกลงอาร์เซ็ปถือเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเพิ่มเติมจากความตกลงเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่แล้วกับสมาชิกอาร์เซ็ปรายประเทศ โดยเฉพาะกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นภายใต้ความตกลงฉบับนี้ เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืชและแป้ง แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาคู สินค้าประมง อาหารแปรรูป น้ำผลไม้ เป็นต้น
นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังสามารถใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในการส่งออกไป 16 ประเทศ จากเดิมที่ใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกันตามความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับ อีกทั้ง เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงอาร์เซ็ปยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้นทั้งจากประเทศในกลุ่มและนอกอาร์เซ็ปได้อีกด้วย" นางอรมน เสริม
ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไปประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป 16 ประเทศ รวมมูลค่า 25,209 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 62.2 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไทยไปโลก และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกไปประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป รวม 10,870 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ร้อยละ 63.8 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไทยไปโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่เติบโตได้ดี เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.07) ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูป (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.12) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7) น้ำผลไม้ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.19) ผักกระป๋องและผักแปรรูป (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.05) ผลิตภัณฑ์ข้าว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.32) เป็นต้น