นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2563 จะอยู่ในระดับ 222,744 ล้านดอลลาร์ มีโอกาสจะหดตัวถึง -9.6% ซึ่งถือเป็นการส่งออกที่ติดลบหนักในรอบ 10 ปี โดยอยู่ภายใต้เศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัว -5% เศรษฐกิจไทยหดตัว -7.7% ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล ค่าเงินบาท 31 บาท/ดอลลาร์
ทั้งนี้ ม.หอการค้า คาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -12 ถึง -19.8% จากครึ่งปีแรกที่หดตัว -7.1% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว เพราะปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ปัจจัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลังคือสงครามการค้า และ การพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศฯ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังคงมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังคงยืดเยื้อ, เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอยู่ในภาวะหดตัว, ประเด็นสงครามการค้า ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ค่าเงิน และสิทธิมนุษยชน, ความต้องการนำเข้าสินค้าของประเทศคู่ค้าลดลง, ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำ, มาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยบวกที่ช่วยเอื้อต่อการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ได้แก่ การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ และเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปี 62 แต่ยังมีปัจจัยต้องติดตาม คือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน-อินเดีย และสหรัฐ-จีน-ฮ่องกง รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.63
นายอัทธ์ กล่าวว่า หากค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังมีความผันผวน ก็อาจจะพลิกจากปัจจัยบวกเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกของไทยได้ เนื่องจากหากเงินบาทไม่อ่อนค่าตามที่ประเมินไว้ จะทำให้การส่งออกปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และมีโอกาสจะหดตัวได้มากสุดถึง -13.5% โดยแนวโน้มเงินบาทที่คาดว่าจะอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19, สัญญาณตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนในประเด็นของฮ่องกง ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัยมากขึ้น "ค่าเงินถ้าผันผวนจากอ่อนค่าไปเป็นแข็งค่า ก็จะพลิกจากปัจจัยบวกกลายเป็นปัจจัยลบได้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นความเสี่ยงของครึ่งปีหลัง ทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมายและแย่กว่าเดิม มีโอกาสจะเห็นส่งออกติดลบมากถึง -13.5% ได้" นายอัทธ์ระบุ ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ประเมินว่า สถานการณ์โควิดทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 63 หายไป 13,647-33,190 ล้านดอลลาร์ โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบหนักสุด อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสของสินค้าไทยภายใต้สถานการณ์โควิด ได้แก่ สินค้าอาหารแปรรูป-เครื่องดื่ม และถุงมือยาง นายอัทธ์ มองว่า ภาคธุรกิจควรจะมีการปรับตัวในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างธุรกิจ Online Grocery, การทำ Cost Sharing ในกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อลดภาระต้นทุน, การขยายตลาดในประเทศโดยสร้างโปรโมชั่นที่จูงใจ, การปรับปรุงเครื่องจักรที่ล้าสมัย, การพัฒนาศักยภาพแรงงาน และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม เป็นต้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรให้การช่วยเหลือภาคธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรและการดำเนินธุรกิจ, จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ, กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ, ใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อเข้าสู่ตลาดที่กำลังฟื้นตัว, ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการและประชาชนด้วยการยกเว้นภาษี เป็นต้น "สิ่งที่อยากเห็นคือการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อเป็นการเติมเงินในทางอ้อมให้แก่ผู้บริโภคโดยปริยาย เพราะตอนนี้ คนชั้นกลางลงมาแทบไม่มีเงินจะจับจ่ายใช้สอย...ภาษีที่เห็นว่าควรจะลดลง คือ ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม" นายอัทธ์กล่าว พร้อมระบุว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะ 10 ปีจากนี้ไป ใน 3 ส่วนที่สำคัญ ประกอบด้วย การลดการพึ่งพาการส่งออกให้น้อยลงจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนสูงถึง 70%, ผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความเข้มแข็งเทียบเท่าผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยทำให้สินค้าของกลุ่ม SMEs ปรับจาก Local Brand ไปสู่ Global Brand และการผลักดันให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่การเป็น Smart Farmer รู้เท่าทันตลาดต่างประเทศ ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้านเศรษฐกิจนั้น นายอัทธ์ ให้ความเห็นว่า รัฐมนตรีใหม่ที่เข้ามาจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างดี และไม่ได้มองว่าเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึก แต่ในทางกลับกันเห็นว่าจะส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกได้ เพราะเปรียบเหมือนเป็นการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ของรถใหม่ให้ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งการจะมีรัฐมนตรีเศรษฐกิจคนใหม่เป็นคนนอก หรือคนจากพรรคการเมืองไม่ใช่ประเด็นสำคัญนัก เนื่องจากมีข้อดีไปคนละแบบ "การได้คนนอกมาเข้ามา ก็อาจจะดี เพราะไม่มีวาระด้านการเมือง แต่หากได้นักการเมืองเข้ามา ก็มีแง่ดี เพราะเขามีฐานเสียงของประชาชน ทำให้ช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งมันก็ดีไปคนละแบบ" นายอัทธ์ระบุ