(เพิ่มเติม1) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มิ.ย. หดตัว -17.66% YoY แต่เพิ่มขึ้น 4.18% MoM

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2020 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย.อยู่ที่ 83.02 หดตัว -17.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 4.18% จากเดือน พ.ค. 63 โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลายอุตสาหกรรมหลักเริ่มทยอยกลับมาขยายตัว ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-มิ.ย.) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลง -12.85% อัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 59.9%

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย.63 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งกิจกรรมด้านการขนส่งทั่วโลกหยุดชะงักลง เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และยังส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาส 2/63 หดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/62 ราว 19.97%

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอุตสาหกรรมหลักขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.30% อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีขยายตัว 2.25%

ขณะที่อุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ เริ่มกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขยายตัวจากเดือน พ.ค.ที่ 28% โดยตลาดในประเทศขยายตัว 43.50% และตลาดส่งออกขยายตัว 67.40% เนื่องจากในช่วงเดือน มิ.ย.ผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิต ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว

นายทองชัย กล่าวต่อว่า พฤติกรรมการบริโภคในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมได้ส่งผลต่อความต้องการสินค้าคงทนลดลง ประชาชนชะลอการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทำให้อุตสาหกรรมหลักหดตัวลงและส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือน มิ.ย.63 ได้แก่ การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน แต่ความต้องการในสินค้าจำพวกอุปโภคและบริโภคกลับขยายตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมิถุนายน ได้แก่ อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.78% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารปลาเป็นหลัก เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.46% โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋อง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.74% จากผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและนมผง เนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการทำโปรโมชั่นและเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์ โดยได้รับคำสั่งซื้อจากมาเลเซีย อินโดนีเซียและพม่าเพิ่มขึ้นหลังผู้ผลิตในมาเลเซียปิดโรงงานชั่วคราวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.74% จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ และกระติกน้ำร้อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นและให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มเปิดประเทศของกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะตลาดหลักจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างญี่ปุ่นและบังคลาเทศ

"รัฐบาลได้เตรียมดำเนินแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมวันที่ 15 ก.ค.63 และมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 6 ที่จะอนุญาตให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับต่างชาติ เช่น ชาวต่างชาติเข้ามาจัดแสดงสินค้าในราชอาณาจักร กองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติ กลุ่ม Medical and Wellness ฯลฯ โดยคาดว่าภาคการผลิตจะกลับมาผลิตได้เต็มกำลังอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและแผนการดำเนินการให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคในยุคชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่มีความต้องการในสินค้าอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น" นายทองชัย กล่าว

นายทองชัย กล่าวต่อว่า จากปัจจัยต่างๆที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ นำไปสู่การคลายล็อกกิจกรรมและกิจการให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนกลับมา ทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษศรษฐกิจในประเทศไทย ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศทยอยปรับตัวดีขึ้นตามมา ประกอบกับคณะรัฐมนตรี ( ครม.) อนุมัติหลักการโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท รอบที่ 1 จำนวน 186 โครงการ วงเงิน 92,000 ล้านบาท และมาตรการ"เราเที่ยวด้วยกัน" ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมเมื่อวันที่ 15 ก.ค.และมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 6 ทำให้คาดว่าแนวโน้ม MPI ในระยะถัดไปหลังจากนี้จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ทั้งปียังคงคาดการณ์ MPI หดตัวที่ -6 ถึง -7% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมปีนี้จะหดตัว -5.5 ถึง -6.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ