นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวผ่านรายการ CEO Talk พลิกวิกฤต ในหัวข้อ "อย่าปล่อยให้หนี้สิน...กลายเป็นหนี้เสีย"ว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามในกลุ่มคนที่ว่างงานและยังหางานไม่ได้ แต่มีหนี้สิน ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือหนี้อื่นๆ จะมีความสามารถในการกลับมาชำระหนี้ได้หรือไม่หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในช่วงสิ้นเดือนก.ย.หรือต.ค.นี้ ถือเป็นความเสี่ยงต่อประเทศไทยที่แนวโน้มของหนี้เสียจะพุ่งขึ้นในช่วงปลายปี และเป็นเหตุให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้า และยังเข้มงวดการให้สินเชื่ออีกด้วย
จากผลกระทบของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ที่เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการช่วยเหลือในการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาถือว่าคนไทยมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่ในช่วงไตรมาส 1/63 มีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนสูงถึง 87% และคนไทยเริ่มมีหนี้สินที่มีอายุยาวนานมากขึ้น และเป็นหนี้เมื่ออายุยังไม่มาก ถือเป็นความเสี่ยงในระยะยาวที่ส่งผลทำให้ไม่สามารถเกษียณอย่างมีความสุข เพราะตลอดเวลาในการทำงานจะต้องทำเพื่อมาใช้หนี้เกือบทั้งชีวิต จึงมีเงินออมน้อยรองรับวัยเกษียณน้อยลง
ส่วนภาคธุรกิจในปัจจุบันยังเผชิญปัญหากับสภาพคล่องที่ไม่เพียงพอเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ หรือธุรกิจบางรายยังสามารถไปต่อได้แต่ไปแบบกระท่อนกระแท่น เนื่องจากปัจจัยโควิด-19 ส่งผลกระมบในวงกว้างเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ได้คาดคิดไว้ ทำให้อาจจะไม่ได้ระมัดระวังในเรื่องการวางแผนทางการเงิน ดังนั้น เมื่อธุรกิจต้องหยุดชะงักชั่วคราว ขาดสภาพคล่อง จึงมีผลกระทบทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ถือว่าในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนต่อภาคธุรกิจที่จะต่องมีการวางแผนทางการเงิน กักตุนสภาพคล่องไว้มากขึ้น และไม่ก่อหนี้จนเกินตัว
ขณะที่ในด้านธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆ มากขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์เผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายค่อนข้างมากในการที่จะต้องแบกรับภาระหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงที่พักชำระหนี้ แต่ธนาคารพาณิชย์ต่างก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมหลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือออกไปแล้ว แม้ว่าผู้ประกอบการจะมีความต้องการสินเชื่อเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง แต่การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังมีความระมัดระวังสูง เห็นได้จากวงเงินกู้ซอฟท์โลนให้กับเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันปล่อยได้ไปจริงไม่ถึงแสนล้านบาท
"ที่ผ่านมาภาคธุรกิจเจอกับความท้าทายค่อนข้างมากตั้งแต่ปีก่อน โดยเฉพาะสงครามการค้าที่ทำให้บางธุรกิจอ่อนแรง และมาเจอกับโควิด-19 ก็ทำให้มีธุรกิจที่อ่อนแอมาเพิ่ม และสภาพคล่องที่เป็นปัญหาทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ทำให้ภาคธุรกิจต้องการวงเงินสินเชื่อมาช่วยประคองไว้ แต่ธนาคารเองก็ต้องดูแลตัวเองในช่วงนี้ เพราะยังมีความเสี่ยงในอนาคตข้างหน้าที่ต้องระมัดระวัง และก็เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ภาพรวมยังค่อนข้างจะท้าทายต่อภาคธุรกิจและธนาคารเองที่จะฝ่าฝันไปข้างหน้า"นายสุรพล กล่าว
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ คือ ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในปัจจุบันชะลอการจ้างงาน เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นการฟื้นตัวกลับมาเร็ว ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ ที่จะมีออกมาเฉลี่ย 300,000-400,000 คน/ปี ซึ่งอาจจะหางานไม่ได้หรือหางานทำยากขึ้น เพราะนายจ้างปิดประตูรับแรงงาน และคนที่ถูกเลิกจ้างไปก่อนหน้านี้จะเป็นอีกกลุ่มที่จะหางานทำยากขึ้นด้วยเช่นกัน