สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ว่าในปี 63 เศรษฐกิจไทยจะติดลบถึง 8.5% รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก ก่อนจะกลับมาขยายตัวในระดับ 4-5% ในปี 64 เนื่องจากขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/63 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบเกินกว่า 10% โดยคาดว่าในไตรมาส 3/63 มีโอกาสติดลบไม่มากเท่ากับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการดูแลที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา
สศค.ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักหดตัวลง โดยในปีนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวที่ -11.0% (จากช่วงคาดการณ์ที่ -11.5% ถึง -10.5%) ส่วนปี 64 คาดว่าจะกลับมาขยายตัว 5%
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในปีนี้จะหดตัวที่ -82.9% นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวที่ -2.6% (ช่วงคาดการณ์ -3.1% ถึง -2.1%) และ -12.6% (ช่วงคาดการณ์ -13.1 ถึง -12.1%) ตามลำดับ สอดคล้องกับทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การโอนงบประมาณตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 กรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัว 4.3% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.8 ถึง 4.8%) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 9.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 9.2 ถึง 10.2%)
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค.ระบุว่า ประมาณเศรษฐกิจปี 63 ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดที่มีการประเมินมา เพราะถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าตอนวิกฤติต้มยำกุ้งที่ทำให้เศรษฐกิจปี 41 ติดลบ 7.6% อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัว 4-5% ในปี 64 เนื่องจากขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 ที่คาดว่าจะติดลบเกินกว่า 10% โดยคาดว่าในไตรมาส 3/63 จะติดลบไม่มากเท่ากับไตรมาสก่อน
"เราเชื่อว่าเราผ่านจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจมาแล้วในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่คาดว่าจะติดลบ 2 หลัก จากนี้จะเป็นช่วงที่ดีขึ้น อาจจะยังไม่บวก แต่จะไม่ลบมากเหมือนไตรมาสที่ 2 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยที่เครื่องยนต์หลักคือการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติมากยิ่งขึ้น"นายลวรณ กล่าว
สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจปี 63 อยู่บนสมมติฐาน 5 ประการ ประกอบด้วย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 15 ประเทศคู่ค้าที่คาดว่าจะติดลบ 4.1%, ค่าเงินบาทปี 63 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.7 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากปี 62 ราว 2.9%, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 42 ดอลลาร์/บาเรลล์, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 6.8 ล้านคน ลดลง 82.9 % และรายได้จากนักท่องเที่ยวลดลง 0.34 ล้านล้านบาท และรายจ่ายภาคสาธารณะ โดยคาดว่าจะเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายที่ 93.3% รายจ่ายประจำ 99.7% และรายจ่ายลงทุน 60%
อย่างไรก็ตาม การประเมินภาพรวมเศรษฐกิจครั้งนี้ ไม่ได้นำปัจจัยการเมืองมาประกอบการพิจารณา ซึ่งยึดปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเรื่องการเมืองถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายมั่นคงที่จะต้องดูแล
นายลวรณ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ไปต้องติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากได้รับสัญญาณบวกในการผลิตวัคซีนที่หลายประเทศเข้าสู่การทดลองในระยะที่ 3 คาดว่าไม่เกินกลางปีหน้าจะสามารถผลิตวัคซีนออกมาได้ ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์โควิดคลี่คลายลงไป ส่งผลดีต่อการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ โดยคาดว่าปี 64 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 14-15 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล และ e-Commerce จะขยายตัวได้ดีในอนาคต รองรับการปรับตัวสู่วิถีใหม่ (New Normal) พร้อมกับยืนยันว่า กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการดูแลที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง มั่นใจว่ามาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1-3 เป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ มาตรการดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงเมื่อวิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นไป
นายลวรณ กล่าวว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะเป็นแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าจะเป็นแบบเครื่องหมายถูก หรือค่อยๆฟื้นตัวขึ้นไป ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น เชื่อว่าหลังจากรัฐบาลเดินหน้าไปหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบโดยตรง จึงจำเป็นต้องเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจมายังเรื่องของการบริโภคก่อน
"มาตรการดูแลและเยียวยาจากภาครัฐที่ออกมามีผลอย่างมาก ช่วยให้ประชาชน ธุรกิจ รับมือ ประคับประคองให้ผ่านไปได้ ส่วนมาตรการเสริมด้านท่องเที่ยวที่ออกมาไม่ได้หวังว่าจะให้กลับมาคึกคัก แต่หวังให้กระจายตัวไปในทุกภูมิภาค...ซึ่งสิ่งที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ คือ การบริโภค ซึ่งติดตามอยู่ โดยย้ำว่าเราดูแลทุกมิติ โดยพร้อมออกมาตรการดูแลที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา"นายลวรณ กล่าว