นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.63 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น หลังจากมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศที่สะท้อนผ่านการส่งออกสินค้าและบริการยังคงชะลอตัว สอดคล้องกับด้านอุปทานที่ชะลอตัวลงในภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัว สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ กลับมาขยายตัวที่ 3.4% ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 41.4 หลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ดี การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ยังคงชะลอตัว แต่มีอัตราการชะลอตัวที่ลดลง
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวในอัตราชะลอลง -9.0% และ -26.4% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์กลับมาขยายตัวที่ 4.3% ต่อปี และการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวในอัตราชะลอลงที่ -6.6% ต่อปี ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ -2.9% ต่อปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของราคาในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสำคัญ
ส่วนเศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าชะลอตัว -23.2% ต่อปี จากการลดลงของการส่งออกสินค้าในหมวดสำคัญ อาทิ หมวดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และหมวดเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
อย่างไรก็ดี การส่งออกในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวที่ 4.6% ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ หมวดผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ขยายตัว 8.8% ต่อปี ขณะที่สินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 21.4% และ 4.6% ต่อปี ตามลำดับ จากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า จำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลัก พบว่า ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน 9 ประเทศ ลดลง -21.6% -22.7% และ -30.3% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังสหรัฐและจีนขยายตัว 14.5% และ 12.0% ต่อปี ตามลำดับ โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รวมถึงหมวดผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป เป็นต้น
ส่วนมูลค่าการนำเข้าชะลอตัว -18.1% ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย.63 เกินดุล 1.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานชะลอตัว พบว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคท่องเที่ยวยังคงชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว -17.7% ต่อปี จากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก เป็นต้น แต่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดของภาครัฐ ทำให้ภาคเอกชนกลับมาดำเนินการธุรกิจได้มากขึ้น
ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัว 2.7% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นผลผลิตในหมวดไม้ผล อาทิ ทุเรียน และมังคุด สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะไก่เนื้อ ตามความต้องการทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจีน อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวและมันสำปะหลังปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้ง ในขณะที่สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่มีการระบาดทั่วทุกภูมิภาคของโลก ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยต่อเนื่องจากเดือน เม.ย.และ พ.ค.63
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.6% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.0% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน พ.ค.63 อยู่ที่ 44% ต่อ GDP อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.63 อยู่ในระดับสูงที่ 241.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ