สศค.เผยเศรษฐกิจหลายภูมิภาคเริ่มมีทิศทางดีขึ้นแม้ยังคงหดตัวสะท้อนความเชื่อมั่นฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 30, 2020 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน มิ.ย.63 ว่า ภาวะเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อาทิ ภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในเกือบทุกภูมิภาค สะท้อนให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

*ภาคตะวันตก

ภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้หลายเครื่องชี้ยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับด้านความเชื่อมั่น (Sentiment Indexes) จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวในระดับสูง

ในเดือน มิ.ย.63 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ภายในประเทศดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่หดตัว -31.1% และ -5.2% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -38.5% และ -36.5% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มดีขึ้น อาทิเช่น จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัว 4.3% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -24.8% ต่อปี

สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวได้ดี ที่ 963.6% ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 1,631 ล้านบาท จากโรงงานผลิตขนมปังกรอบ หรือขนมอบแห้ง ในจังหวัดราชบุรี รวมถึงเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ขยายตัวได้ที่ 53.3% ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 653 ล้านบาท จากโรงงานผลิตและประกอบตัด พับ ดัด ม้วน เจาะ ปั๊ม และเชื่อมโลหะทั่วไป ในจังหวัดเพชรบุรี

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 43.4 และ 82.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 39.2 และ 78.7 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -2.7% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ -4.4% ต่อปี

*ภาคใต้

ภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้หลายเครื่องชี้ยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

ในเดือน มิ.ย.63 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่หดตัว -42.3% และ -15.9% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -54.4% และ -47.6% ต่อปี ตามลำดับ

เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่หดตัวที่ -15.4% และ -4.8% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ -42.7% และ -29.2% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวได้ดี ที่ 491.4% ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 727 ล้านบาท จากโรงงานห้องเย็นที่มีการแปรรูปวัตถุดิบในจังหวัดยะลาเป็นสำคัญ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 43.4 และ 76.7 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 37.9 และ 72.8 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -2.2% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -3.8% ต่อปี

*ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้หลายเครื่องชี้ยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ในเดือน มิ.ย.63 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ภายในประเทศดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่หดตัว -30.5% และ -9.6% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -37.5% และ -32.2% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มดีขึ้น สะท้อนจาก จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่หดตัวที่ -18.4% และ -11.1% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ -41.6% และ -33.0% ต่อปี ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านการลงทุนภาคเอกชนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ยังขยายตัวได้ที่ 5.8% ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 459 ล้านบาท จากโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำดื่ม ในจังหวัดหนองคายเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 44.4 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 40.5 ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้นมาอยู่ที่ -1.2% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -2.5% ต่อปี

*ภาคเหนือ

ภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้หลายเครื่องชี้ยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

ในเดือน มิ.ย.63 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ภายในประเทศดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่หดตัว -36.6% และ -10.3% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -50.8% และ -41.6% ต่อปี ตามลำดับ

เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่หดตัวที่ -3.6% และ -15.2% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -44.0% และ -28.3% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านการลงทุนภาคเอกชนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ยังขยายตัวได้ที่ 34.2% ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 1,350 ล้านบาท จากโรงงานซ่อมเคาะพ่นสีรถยนต์ ในจังหวัดตากเป็นสำคัญ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 42.5 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 38.4 ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้นมาอยู่ที่ -1.7% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -3.0% ต่อปี

*ภาคกลาง

ภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้หลายเครื่องชี้ยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

ในเดือน มิ.ย.63 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ภายในประเทศดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ที่หดตัว -38.0% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -41.4% ต่อปี

เช่นเดียวกับ การลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ที่หดตัวที่ -30.9% ต่อปี ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -32.6% อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านการลงทุนภาคเอกชนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ยังขยายตัว ที่ 23.3% ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 650 ล้านบาท จากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ กำลัง 5.01 เมกะวัตต์ (กระแสสลับ) ในจังหวัดสระบุรีเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 43.4 และ 82.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 39.2 และ 78.7 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมาตรการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้นมาอยู่ที่ -2.1% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -3.8% ต่อปี

*ภาคตะวันออก

ภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้หลายเครื่องชี้ยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

ในเดือน มิ.ย.63 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ภายในประเทศดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่หดตัว -43.3% และ -26.2% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -47.0% และ -33.3% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่หดตัวที่ -27.1% และ -10.2% ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -41.1% และ -30.9% ต่อปี ตามลำดับ

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 43.4 และ 99.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 39.2 และ 97.5 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้นมาอยู่ที่ -2.3% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -3.6% ต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ