นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/63 จะหดตัวสูงกว่าที่เคยลงไปลึกสุดที่ -12.5% ในไตรมาส 2/41 ซึ่งจะเป็นการติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ใช้มาตรการเข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว
ทั้งนี้ อุปสงค์จากต่างประเทศหดตัวสูง ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าอ่อนแอลงมาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูง มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้และมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ
"เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ไตรมาส 2/63 ซึ่งถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวลึก และลึกที่สุดในประวัติศาสตร์ เทียบจากไตรมาส 2/41 ที่ GDP ติดลบ 12.5% ซึ่งในครั้งนี้ก็คาดว่ามีโอกาสที่จะติดลบมากกว่านั้น จากมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย โดยมาตรการดังกล่าวมีผลกระทบต่อเครื่องชี้เศรษฐกิจทุกตัว การส่งออก การนำเข้า การลงทุน การบริโภค มีเพียงภาครัฐที่ยังขยายตัวได้ แต่จากทิศทางที่ดีขึ้นทำให้มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวน้อยลงเรื่อย ๆ ส่วนจะกลับมาเติบโตปกติก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 คงต้องรอไปถึงปี 65 ดังนั้นการเห็นเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นน่าจะทำให้สบายใจขึ้นว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ลงต่อ แต่ระยะต่อไปก็ยังมีความท้าทายรออยู่ด้วย" นายดอน กล่าว
นายดอน กล่าวถึงการประมาณการเศรษฐกิจปี 63 รอบใหม่ของ ธปท.จากที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 8.1% นั้น คงต้องรอตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2/63 ออกมาอย่างเป็นทางการจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายกว่าที่คิด ซึ่งอาจจะส่งผลให้การปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ติดลบน้อยลงจากคาดการณ์เดิม
แต่ทั้งหมดต้องรอเดือน ก.ย.63 จะเห็นภาพชัดเจนที่สุด เพราะเศรษฐกิจไตรมาส 3/63 จะเป็นตัวตัดสินว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังเห็นการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรงในหลายประเทศ ทำให้ต้องจับตาว่าจะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นอีกหรือไม่ ถ้ามีก็จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ
นายดอน กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว โดยการ์ดจะต้องไม่ตก เพราะหนทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งในส่วนการเยียวยาและฟื้นฟูยังอีกยาวไกล ดังนั้น เงินที่มีต้องใช้ให้ถูกจุดและทันการ หากสถานการณ์เลวร้ายลงอีกก็ต้องพร้อมจะเพิ่มมาตรการออกมาดูแล
สำหรับค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีเมื่อเทียบกับภูมิภาคยังมีทิศทางอ่อนค่า แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในเดือน มิ.ย. แต่ก็ปรับอ่อนค่าลงในเดือน ก.ค. เป็นผลมาจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดระยองและจาดการเดินทางของกลุ่ม VIP รวมถึงความไม่แน่นอนด้านการเมืองจากการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล