ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร และข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP เดือนก.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน และรายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนมิ.ย.
ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตามได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ จีดีพีไตรมาส 2/63 ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.ค. ของจีน และยูโรโซน
สำหรับเมื่อวันศุกร์ (31 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังตลาดการเงินในประเทศกลับมาเปิดทำการหลังช่วงวันหยุดยาว โดยการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปตามภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินด้วยทุกเครื่องมืออย่างเต็มรูปแบบอย่างไม่จำกัดเพื่อหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับสู่เส้นทางการฟื้นตัว ทั้งนี้เงินบาทขยับแข็งค่าผ่านแนว 31.20 แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 31.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/63 ของสหรัฐฯ ซึ่งหดตัวลงลึกสุดในรอบกว่า 70 ปี