คลัง คงคาดการณ์ GDP ปี 50 ขยายตัว 4% คาดลงทุนทรงตัว-บริโภคเอกชนโตลดลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 23, 2007 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กระทรวงการคลังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 50 ไว้ที่ 4% เท่าเดิมที่เคยประมาณ
การไว้ในครั้งก่อน ซึ่งมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 3.8-4.3% โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น เพื่อสนับสนุนการ
ขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะการส่งออกที่เคยขยายตัวสูงในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าจะ
ชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
ส่วนในปี 51 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่องราว 4% เมื่อปัจจัยทางการเมืองปรับตัวดีขึ้นและมีรัฐบาลใหม่เข้ามา
รับหน้าที่หลังจากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า แต่ยังมองอย่าง conservative ว่าการเติบโตคงไม่มากกว่า
5% เพราะปัจจัยหลายอย่างยังมีความผันผวน ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการทบทวนประมาณการทั้งหมดอีกครั้งตามกำหนดในเดือน พ.
ย.นี้
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า การประมาณการภาวะเศรษฐกิจ
ในปี 50 มีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการเดิม คือ การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวลดลง เป็นผลจากไตรมาสแรกชะลอตัว
มากกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก แม้ว่าครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มดีขึ้นแต่โดยรวมยังลดลง
ประกอบกับ การลงทุนภาคเอกชนแนวโน้มแทบจะไม่ขยับเลย เพราะไตรมาสแรกการลงทุนหดตัวมากกว่าคาดไว้ แต่
การเร่งเบิกจ่ายภาครัฐและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการเลือกตั้งที่จะดีขึ้นในช่วงปลายปีน่าจะทำให้การ
ใช้จ่ายครึ่งปีหลังฟื้นตัวดีขึ้น
สำหรับการส่งออกในรูปดอลลาร์ยังขยายตัวได้ถึง 12.5% แม้ว่าจะลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 13.7% เล็กน้อย และ
การนำเข้าขยายตัว 6.9% ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 9.6 พันล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์
การส่งออกในเดือนล่าสุดคือ ก.ค.50 ที่เติบโตเพียง 5.9% จาก มิ.ย.50 โตถึง 18% ต้องไปตรวจสอบข้อมูลครั้ง
เพราะตัวเลขของภาคเอกชนและทางการยังไม่ตรงกัน แต่หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน พบว่าประเทศอื่นไม่ได้ปรับลดลง
เลย เช่น ญี่ปุ่น ส่งออกโต 11.7% จาก 8.6% เกาหลีใต้ 17.8% จาก 14.6% และสิงคโปร์ 14% จากเดิม 4.1%
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการส่งออกของไทยล่าสุดที่ชะลอตัวลงไม่น่าจะมาจากเศรษฐกิจโลกเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมีปัจจัย
การแข็งค่าของเงินบาทประกอบไปด้วย เพราะทำให้สินค้าส่งออกไทยบางประเภทลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐแม้จะมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้แทนแต่ก็ยังมีปัญหา โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐ
วิสาหกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งมีสาเหตุจากความไม่ต่อเนื่องในโครงการบ้านเอื้ออาทร ปัญหามลพิษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตา
พุดที่กระทบกับแผนลงทุนของ ปตท.และโครงการรถไฟฟ้าที่คาดว่าจะลงทุนไม่ทันในปีนี้
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.0% ต่อปี ช่วงคาด
การณ์ 1.5-2.5% เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานจากราคาน้ำมัน
ดิบในตลาดโลกที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ขณะเดียวกันการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะช่วยลดแรงกดดันเงิน
เฟ้อทางด้านอุปสงค์ด้วยอีกทางหนึ่ง
นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง สศค. กล่าวว่า โดยปกติแล้วเศรษฐกิจไทย
จะเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 4% อยู่แล้วหากไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นเป็นพิเศษ แต่หากมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ก็คาดว่าจะ
ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนและเกิดการลงทุน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจโดยรวมในปีหน้าฟื้นตัวขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์
ขณะนี้มีข้อมูลว่านักลงทุนต่างประเทศจำนวนมากเข้ามาขอเอกสารจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอ
ไอ)ดังนั้นหากความเชื่อมั่นกลับคืนมาก็น่าจะทำให้เกิดการลงทุนเป็นจำนวนมาก
"ถ้าสถานการณ์การเมืองดีขึ้น ก็น่าจะมีโอกาสได้ดีกว่า 4% เพราะปกติเศรษฐกิจไทย ขนาดที่ไม่ได้ทำอะไรเลย
bottom line ก็อยู่ที่ 4% อยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้อยู่ในภาวะที่ไม่มีความมั่นใจจึงไม่มีการลงทุน แต่ถ้าเลื่อนระดับเป็น risk คือรู้
ความเสี่ยงที่แน่นอน จากเดิมที่ไม่แน่นอน ก็จะตัดสินใจลงทุนได้ การลงทุนก็จะออกมา"นายคณิศ กล่าว
นางพรรณี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ปัจจัยหลายอย่างค่อนข้างผันผวน โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก แต่ก็เชื่อมั่นว่านักลงทุน
ต่างประเทศยังอยากจะเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะญี่ปุ่น เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าสถานการณ์การเมืองยังไม่มั่นคงนัก แต่ญี่ปุ่นยัง
เพิ่มการลงทุนในไทย
**ตารางประมาณการเศรษฐกิจปี 50(ณ เดือน ส.ค.)
ใหม่(ส.ค.) เดิม(พ.ค.)
ช่วง เฉลี่ย ช่วง เฉลี่ย
GDP(%) 3.8-4.3 4.0 3.8-4.3 4.0
การบริโภค
เอกชน 1.5-2.5 2.0 1.8-2.8 2.3
รัฐ 9.0-13.0 11.0 8.8-12.8 10.8
การลงทุน
เอกชน (-0.5)-(0.5) 0.0 0.3-0.7 0.5
รัฐ 0.7-4.7 2.7 0.2-4.2 2.2
ส่งออกสินค้า(%) 6.0-7.0 6.5 7.6-8.6 8.1
นำเข้าสินค้า(%) 2.2-3.2 2.7 4.7-5.7 5.2
ดุลการค้า(พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 8.6-10.6 9.6 8.4-10.4 9.4
ดุลบัญชีเดินสะพัด(พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 11.0-13.0 12.0 10.9-12.9 11.9
(ร้อยละต่อ GDP) 4.5-5.5 5.1 4.5-5.5 4.9
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(%) 1.5-2.5 2.0 2.5-3.0 2.8

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ