สภาพัฒน์มั่นใจส่งออกปีนี้ยังขยายตัวได้ตามเป้าแม้จะชะลอตัวในเดือน ก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 23, 2007 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เชื่อว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้ภาวะการส่งออกในเดือน ก.ค.ที่ผานมาจะชะลอตัวลง แต่สินค้าส่งออกหลักๆ ไม่ได้ชะลอตัวมากนัก โดยในภาพรวมช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกของไทยก็ยังโตได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 และ 4 แนวโน้มเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะเรื่องของการบริโภคที่ขณะนี้มีการขยายตัวที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องของราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อเชื่อว่าตอนนี้แนวโน้มน่าจะลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งทุกอย่างดูแล้วไม่น่าเป็นห่วง
นายอำพน กล่าวว่า สภาพัฒน์กำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดโครงการต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในปีหน้าให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะตอนนี้ทุกอย่างเริ่มมีความชัดเจนแล้วหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการทำประชามติ ขณะที่การทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม คณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือธุรกิจรายสาขา และคณะกรรมการเร่งรัดงบประมาณก็มีความคืบหน้าอย่างมาก
ด้าน นายอาชว์ เตาลานนท์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าและสภาหอการค้าไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ภาวะการส่งออกที่ชะลอตัวนั้นเป็นเรื่องที่ผ้เกี่ยวข้องต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะปกติในไตรมาส 3 และ 4 จะดีกว่าครึ่งแรกของปี แต่เมื่อเป็นเช่นนี้น่าจะมาจากปัจจัยค่าเงินบาท แม้ว่าตอนนี้จะทรงตัวหรืออ่อนตัวบ้างก็ตาม นอกจากนี้ปัญหาการขาดดุลชำระเงินของสหรัฐ รวมถึงซับไพร์มที่กระทบต่อการส่งออกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเป็นห่วงปัญหาการส่งออกชะลอตัวในเดือน ก.ค.นี้จะส่งผลกระทบไปถึงปีหน้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็มีสินค้าหลายอย่างที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า อัญมณี ที่มีปัญหาการแข่งขันกับจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่า ดังนั้นต้องมีการปรับตัวให้ได้
นายอาชว์ กล่าวว่า อยากฝากรัฐบาลชุดใหม่รื้อฟื้นโครงการเมกะโปรเจค์ขึ้นมาโดยด่วน ไม่ว่าจะเป็น ระบบการขนส่ง ระบบชลประทาน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เนื่องจากตอนนี้มันมีการชะงักตัวอย่างมาก หากฟื้นโครงการให้เร็วจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
นายอาชว์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โลก ซับไพร์ม อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน ที่มีความผันผวนเร็วมาก ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ต้องระวังและหามาตรการรองรับให้ได้ อีกทั้งปัญหาความแตกแยกทางสังคมก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าแก้ไม่ได้จะกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าอย่างมาก
"เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่คงเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค เอกชนเชื่อว่าน่าจะมีนักการเมืองรุ่นเก่าที่ประชาชนคุ้นหน้าเข้ามาบริหารงานเป็นจำนวนมาก และเมื่อกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง เอกชนก็มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจระดับหนึ่ง" นายอาชว์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ