นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน มีมติเห็นชอบโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพิ่มจำนวน 2 โครงการ จาก 2 หน่วยงานร่วมดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ร้านค้าหาบเร่ แผงลอย เกษตรกร รวมถึงวิสาหกิจชุมชนสามารถยกระดับการบริหารจัดการกระบวนการผลิตด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ในพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวน 240 คูปอง โดย หอการค้าจังหวัดจันทบุรี โดยดำเนินการต่อเนื่องในจังหวัดฉะเชิงทรา หลังได้รับการอนุมัติดำเนินงานในโครงการดังกล่าวแล้วในพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาคการค้าและการบริการ รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่
อีกหนึ่งโครงการคือ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล จำนวน 400 ราย โดย สมาคมโรงสีข้าวสุพรรณบุรี มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการเกษตร และเกษตรกรทั่วประเทศเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) และเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนสู่ธุรกิจดิจิทัลอย่างมีแบบแผน
นายณัฐพล กล่าวว่า ดีป้า พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากผู้ให้บริการดิจิทัลในโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ระบบบริหารจัดการลูกค้า (CRM) ระบบบริหารจัดการร้าน (ERP) ระบบบัญชี การเงิน (ACC) ระบบบริหารจัดการบุคคล (HRM) ระบบขายหน้าร้าน (POS) ระบบจัดการการขายออนไลน์ (E-commerce) ระบบขนส่ง (Logistic) ระบบบริหารจัดการฟาร์ม (Smart Farming) และระบบบริหารจัดการการจอง (Booking Engine) รวมถึงแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว (Digital Tourism Platform) สำหรับวิสาหกิจชุมชน ซึ่ง ดีป้า มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารจัดการภายในองค์กร เพิ่มยอดขาย สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ และสนับสนุนระบบอีคอมเมิร์ซให้กับผู้ใช้บริการในยุคประเทศไทย 4.0
"หนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนคือ มาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa mini Transformation Voucher) ที่ดำเนินการผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานร่วมดำเนินงาน เครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการดิจิทัล (ดิจิทัลโพรไวเดอร์) ในโครงการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานฯ เพื่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเกิดความมั่นใจในการได้รับเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับบริบทของตนเอง โดยมาตรการดังกล่าวได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแล้วกว่า 3,000 ราย" นายณัฐพล กล่าว