ผู้ว่าธปท.เตือนเตรียมรับมือแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนยังผันผวนได้ตลอด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 1, 2007 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในสัมมนา"แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อภาคการส่งออกในครึ่งปีหลัง"ว่า ทิศทางบาทในครึ่งปีหลังมองได้ 2 ด้าน ทั้งแข็งค่าหรืออ่อนค่า โดยหากค่าเงินบาทแข็งค่า เป็นผลมาจากความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก ที่ดอลลาร์ยังอ่อนอยู่ ทำให้มีเงินไหลเข้ามาเป็นแรงกดดันให้บาทแข็งค่า ขณะที่ปัจจัยในประเทศมาจากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลอย่างมาก
ขณะที่หามองว่าค่าเงินบาทอ่อน ก็อาจมาจากการที่ทางการพยายามออกมาตรการเพื่อให้เอกชนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ล่าสุดที่มีเงินภาคเอกชนประมาณ 1 แสนล้านเหรียญรอจะไปลงทุนต่างประเทศอยู่ เพื่อช่วยผ่อนคลายแรงกดดันบาทที่แข็งค่าได้ ส่วนปัจจัยภายนอก คือ การ Unwire carry trade ซึ่งเรื่องนี้ยอมรับว่าคเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก แต่ต้องระมัดระวัง
"อย่างไรก็ตาม อัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสผันผวนได้ตลอดเวลา จึงควรต้องระมัดระวัง" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
ขณะที่ในปี 51 ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้มากกว่านี้ เนื่องจากโครงการเมกะโปรเจคต์จะเป็นตัวผลักดันให้มีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นตัวกดดันให้บาทอ่อนค่าลง
ผู้ว่าการ ธปท.ยังระบุว่า ช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ภาคเอกชนควรจะลงทุน เพราะต้นทุนถูกมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว
"ทุกๆครั้งที่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็จะดูข้อมูลล่าสุด ณ ตอนนั้น ซึ่งยอมรับว่าเงินเฟ้อก็ไม่สูงมากนัก แม้ว่าราคาน้ำมันยังคงมีโอกาสกระฉูดได้อีก แต่คิดว่ารับมือได้ น่าจะอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ เรื่องน้ำมันเงินเฟ้อจึงไม่ใช่ประเด็น แต่ที่ต้องพิจารณาคือ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจ ที่ผ่านมายอมรับว่า sign เรื่องของการบริโภคและการลงทุนที่ขยับขึ้นมาบ้างแต่ยังน้อยอยู่ จึงต้องลดดอกเบี้ยลงในครั้งที่ผ่านมาเพื่อกระตุ้น" ผู้ว่าการธปท.ระบุ
ผู้ว่า ธปท.กล่าวอีกว่า เรื่องของดอกเบี้ยคงกำหนดไม่ได้ว่าต้องเท่ากับช่วงนั้นช่วงนี้ เพราะขึ้นกับภาวะแวดล้อมในแต่ละช่วงด้วย ไม่ควรนำอัตราดอกเบี้ยในช่วงใดช่วงหนึ่งมาเป็น Benchmarkและขณะนี้ก็ถือว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตประเทศไทยคงไม่สามารถแข่งขันด้วยเรื่องของค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว ทางออกคือต้องเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เอกชน เน้นการปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนในทุก ๆ ด้าน
และการเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน ผู้บริโภคกลับมาโดยเร็ว การสร้างความชัดเจนในการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องของเมกะโปรเจ็คต์ เพื่อสร้างความเชื่อมันให้กับนักลงทุนว่าจะมีการลงทุนอย่างแน่นอน รวมทั้งควรมีการวางกรอบนโยบายที่เอื้อให้เศรษฐกิจได้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ด้านเงินทุนให้มากขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันให้กับความเสี่ยงจากความผันผวนด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ