นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบว่า แนวโน้มยังทรงตัว เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กดดันความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้ง อาทิ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายในวงกว้าง
ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดยังคงติดตามการลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมัน ล่าสุด ปริมาณการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขณะที่ความต้องการใช้ยังเปราะบาง โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่เข้าร่วมในข้อตกลงลดปริมาณการผลิตกับกลุ่ม OPEC+ โดยยกเว้นประเทศอิหร่าน ลิเบีย และเวเนซุเอลา เดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ 20.9 ล้านบาร์เรล/วัน โดยมีอัตราความร่วมมือ (Compliance rate) อยู่ที่ 94% ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 111% โดยเฉพาะประเทศคองโก ไนจีเรีย และอิรักที่ไม่สามารถลดปริมาณการผลิตได้ตามข้อตกลง
"ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงมากกว่า 4% ในเดือน ก.ค. 63 นับเป็นการลดลงรายเดือนรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 53 ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนกลับมาลงทุนทำกำไรในสัญญาน้ำมันดิบมากขึ้น" นายวัฒพงษ์ กล่าวส
ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันโลก: ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 43.15 และ 40.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.48 และ 0.94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยตลาดยังคงกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่ไม่กระเตื้องขึ้น หลังทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ที่ 16.6 ล้านคน เสียชีวิต 0.7ล้านคน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 63 ลดลงสู่ระดับ 92.6 จาก 98.3 ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ ติดลบ 32.9% จากปีก่อน โดยเป็นการติดลบที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลไว้ตั้งแต่ปี 2490
สำหรับกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรเตรียมปรับลดการผลิตน้ำมันดิบเป็น 7.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ส.ค. 63 (จากเดิมที่ปรับลดการผลิตอยู่ที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงเดือน พ.ค. - ก.ค. 63) ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น รัสเซียมีแผนผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตน้ำมัน Alexander Zhagrin ทางตะวันตกของ Siberia ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแห่งใหม่ โดยคาดว่าจะผลิตอยู่ที่ 130,000 บาร์เรล/วัน ในปี 67 ทั้งนี้ คาดการณ์แหล่งผลิตนี้มีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่ที่ 4,800 ล้านบาร์เรล
ส่วนราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซีย จากการรายงานปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) น้ำมัน Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ (สิ้นสุด ณ วันที่ 29 ก.ค. 63) เพิ่มขึ้น 0.29 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 16.53 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ส่วนรายงานปริมาณสำรองเบนซินเชิงพาณิชย์ของ Insights Global ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) ในยุโรป (สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ค. 63) เพิ่มขึ้น 0.56 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.76 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ มีปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากประเทศอินเดีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 45.42, 44.23 และ 45.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.19, 0.74 และ 0.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนปัจจัย ปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลจากจีนปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความต้องการใช้ที่ยังไม่ฟื้นตัวในภูมิภาค รายงานการส่งออกดีเซล Petroleum Association of Japan (PAJ) ของญี่ปุ่น (สิ้นสุดวันที่ 25 ก.ค. 63) เพิ่มขึ้น 419,700 บาร์เรล อยู่ที่ 749,400 บาร์เรล การรายงาน Platts ปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่ Fujairah Oil Industry Zone (FOIZ) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ค. 63) เพิ่มขึ้น 0.45 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 4.39 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 49.96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ค่าเงินบาทของไทย: แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ระดับเฉลี่ย 31.5632 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.32 บาท/ลิตร ต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.24 บาท/ลิตร) ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.58 บาท/ลิตร (รวมค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา - กรุงเทพฯ 0.15 บาท/ลิตร) และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.45 บาท/ลิตร
ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง: ณ วันที่ 2 ส.ค. 63 กองทุนฯ มีสินทรัพย์รวม 56,694 ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 23,738 ล้านบาท ฐานะกองทุนฯ สุทธิ 32,956 ล้านบาท (บัญชีน้ำมัน 39,876 ล้านบาท บัญชี LPG -6,920 ล้านบาท)