นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ไม่ห่วงการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ใน ตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภท CDO เนื่องจากธปท.มีหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่วางไว้เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับสถานะของธนาคารพาณิชย์ไว้อย่างเข้มแข็งแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีการวางหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพราะมีความเข้มงวดเพียงพอ
แต่ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์เองจะต้องบริหารความเสี่ยงและคอยติดตามข้อมูลต่างๆ จากการลงทุนอย่างใกล้ชิด โดยควรจะใช้วิธี mark to market เพระมูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนมีการด้อยค่าลงทุกวัน
"เราดูแค่ความเพียงพอของเงินกองทุนว่ามีพอหรือไม่เมื่อเทียบกับความเสี่ยง ธปท.ไม่คิดจะปิดกั้นการลงทุนใน CDO ของแบงก์พาณิชย์เพราะหากไม่เปิดกว้างให้สามารถลงทุนในหลากหลายรูปแบบก็จะทำให้แบงก์พาณิชย์ไทยไม่ได้พัฒนาตัวเองให้แข่งขันกับต่างประเทศ และการลงทุนใน CDO หากมองในแง่ดีก็จะเป็นช่องทางการทำกำไรของแบงก์และยังเป็นเครื่องมือปิดความเสี่ยงอีกทางหนึ่งด้วย" นางทองอุไร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยลงทุนใน CDO ไม่มากนัก โดยเฉพาะ CDO ที่มีอสังหาริมทรัพย์ใน Sub-Prime หนุนมีน้อยมาก ซึ่งหากเทียบกับการทำธุรกิจด้านอื่นๆของธนาคารพาณิชย์แล้วสัดส่วนการลงทุนใน CDO ถือว่าต่ำกว่าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการปล่อยสินเชื่อ ที่สำคัญขณะนี้งบการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมออกมาดี และยังมีเงินกองทุนเพียงพอ จึงไม่มีอะไรต้องกังวล
ด้านนางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้บริหารส่วนวิเคราะห์และติดตามฐานะ ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ไทยที่ไปลงทุน CDO จำนวน 4 แห่ง มูลค่า 715 ล้านเหรียญ สรอ. ซึ่งคิดเป็น 0.6% ของสินทรัพย์รวมของทั้ง 4 ธนาคาร แต่หากเป็น CDO ที่มีอสังหาฯ ใน Sub-Prime หนุนมีเพียง 0.1% ของสินทรัพย์รวมทั้ง 4 ธนาคารเท่านั้น ถือเป็นปริมาณที่น้อยมาก
แม้ว่า ธปท.ได้เปิดอนุญาตเป็นการทั่วไปให้ธนาคารพาณิชย์ไปลงทุน CDO ได้ตั้งแต่ปี 47 เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและช่องทางการลงทุนไปสู่ธุรกรรมใหม่ๆ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมในการลงทุนมากนัก
ส่วนกรณีของ Sub-Prime นั้น มองว่าคงจะเป็นปัญหาในช่วงสั้นๆ แต่ในทางบัญชีแบบ conservative ก็ควรจะต้องมีการตั้งสำรองไว้ก่อน และยังไม่มีผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ไทย เพราะเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และหากธนาคาพาณิชย์ไหนเข้าลงทุน ธปท.จะมีการตรวจสอบทุกปีอยู่แล้ว
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--