นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการสัมมนา "ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีล RCEP" ว่า ความคืบการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในขณะนี้ ประเทศสมาชิกได้ขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงทั้ง 20 ข้อบทเสร็จแล้ว คาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบการลงนามดังกล่าวได้ในเดือนต.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการลงนามความตกลง RCEP ในช่วงการประชุมสุดยอด RCEP ในเดือนพ.ย.63
"เป้าหมายที่วางไว้คือสรุปการเจรจาให้สมบูรณ์ภายใน ส.ค.นี้ จากนั้นถึงจะนำเข้าครม.เพื่อให้ความเห็นชอบการลงนาม ซึ่งจะมีการลงนามในเดือนพ.ย.นี้ จากนั้นจึงจะนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลง เมื่อสภาฯให้ความเห็นชอบ ประเทศไทยจึงจะไปแจ้งกับเลขาธิการอาเซียนในการให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงที่ไทยลงนามไปแล้วมีผลใช้บังคับ"นายรณรงค์ กล่าว
สำหรับโครงสร้างความตกลง RCEP มีทั้งหมด 20 บท ประกอบด้วย 1.บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป 2.การค้าสินค้า 3.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 5.สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง 7.การเยียวยาทางการค้า 8.การค้าบริการ ภาคผนวกบริการการเงิน ภาคผนวกบริการโทรคมนาคม ภาคผนวกบริการวิชาชีพ 9.การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา 10.การลงทุน
11.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ 12.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 13.ทรัพย์สินทางปัญญา 14.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 15.การแข่งขัน 16.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 17.บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน 18.บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น 19.การระงับข้อพิพาท 20.บทบัญญัติสุดท้าย
นายรณรงค์ ระบุว่า ความตกลง RCEP นี้มีจุดขายสำคัญที่นอกจากจะเป็นความตกลงการค้าที่มีขนาดใหญ่สุดในโลก เพราะมีประชากรของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งมีประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน หรือเกือบ 50% ของประชากรโลกแล้ว ความตกลง RCEP ยังเป็นความตกลงที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในแง่ลบกับประเทศสมาชิก ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างจากข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ ในโลก ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ในข้อตกลง RCEP จะมีการออกแบบให้สอดรับกับแต่ละประเทศสมาชิก
อย่างไรก็ดี ในอนาคตหลังจากความตกลง RCEP ได้ลงนามในสัตยาบันและมีผลบังคับใช้แล้ว ภายในระยะเวลา 3-5 ปีจะมีการพัฒนาความตกลงหรือทบทวนความตกลงการเปิดเสรีตลาดสินค้าให้เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีการเปิดตลาดอยู่ในระดับ 90%, การทบทวนการเจรจาในข้อบทหรือกติกาในมาตรการที่มิใช้ภาษี, เรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า, การระงับข้อพิพาท, การเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราภาษีศุลกากร เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะมีการเปิดรับสมาชิกใหม่เพิ่มเติมอีกในอนาคตด้วย
นายรณรงค์ เชื่อว่า ความตกลง RCEP นี้ จะมีส่วนช่วยทำให้ดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยได้มากขึ้น เนื่องจากมีข้อบทเรื่องการคุ้มครองการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถฟ้องร้องรัฐบาลของประเทศผู้รับการลงทุนได้ ซึ่งในจุดนี้จะทำให้นักลงทุนมีความรู้สึกว่าได้รับการปกป้องและการปฏิบัติที่เป็นธรรมมากขึ้นในประเทศที่เข้าไปลงทุน
"หลายประเทศกังวลมากกับข้อบทนี้ ที่ให้นักลงทุนสามารถฟ้องร้องรัฐบาลของประเทศผู้รับการลงทุนได้ แต่ไทยไม่ต้องกลัว เพราะเรามีความตกลงในลักษณะนี้มาแล้วถึง 40 ฉบับที่อนุญาตใหนักลงทุนสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ จุดนี้จะช่วยทำให้นักลงทุนเข้ามาในประเทศมากขึ้น เพราะเขาจะรู้สึกว่าได้รับการปกป้อง และการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากประเทศที่เข้าไปลงทุน" หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ระบุ
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในความตกลง RCEP ฉบับนี้ ประเทศสมาชิกได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปิดตลาดลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรให้ไทยเพิ่มเติมมากกว่าที่ลดให้ใน FTA ที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืชและแป้ง แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาคู สินค้าประมง อาหารแปรรูป น้ำผลไม้ เป็นต้น ดังนั้นเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากผลการเจรจาอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในการส่งออกไป 16 ประเทศ จากเดิมที่ใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกันตามความตกลง FTA แต่ละฉบับ อีกทั้งเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากประเทศในกลุ่มและนอก RCEP ได้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน RCEP ยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทย และช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพอีกด้วย โดยผู้ประกอบการควรศึกษากฎระเบียบ และรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
นางอรมน กล่าวว่า กรมฯ ยังมีแผนจะเดินสายจัดงานสัมมนาในภูมิภาค โดยจะประเดิมจัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) และต่อด้วยภาคใต้ (สงขลา) ในเดือนก.ย.63 เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง และเตรียมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จาก RCEP อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหลังจากที่เผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ความตกลง RCEP จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างกิจกรรมทางการค้าการลงทุน และช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยและในภูมิภาคให้ดีขึ้น