น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลางปี 63 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 1.18 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้แก้ปัญหาและน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเคยเสนอผ่าน ครม.และได้เห็นชอบไปแล้วตั้งแต่ต้นปี แต่ครั้งนี้เป็นการเสนอโครงการเพิ่มเติม
ในครั้งนั้นจุดเริ่มต้นมาจากสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติประมาณการว่าหลายพื้นที่ในประเทศไทยมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภครวม 69 จังหวัด แบ่งเป็นเขตประปา 31 จังหวัด และเขตนอกประปา 38 จังหวัด มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 56 จังหวัด แบ่งเป็นในเขตประปา 36 จังหวัด นอกเขตประปา 20 จังหวัด
สำหรับแผนงานที่ได้รับงบกลาง ประกอบด้วย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 8 โครงการ ได้แก่
1)โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ 2 แห่ง
2)โครงการปรับปรุงคลองเปรมประชากร 2 แห่ง
3)โครงการพัฒนาหนองเล็งทราย จังหวัดพะเยา 2 โครงการ
4)โครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่เสียหายเนื่องจากอุทกภัย จำนวน 83 รายการ
5)โครงการขุดบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ลักษณะเป็น Deep Pool จุดที่ 4
6)โครงการจัดหาเรือกำจัดวัชพืช จำนวน 50 รายการ
7)โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยเหยี่ยน พร้อมระบบระบายน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำ
และ 8)โครงการขุดลอกลำน้ำอิงตอนบนพร้อมอาคารประกอบ
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย โดยการสนับสนุนกว่า 10 หน่วยงาน จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1)โครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 18,927 รายการ และ 2)โครงการจัดหาครุภัณฑ์เรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 805 ลำ งบประมาณ 135 ล้านบาท
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 884.5 ล้านบาท ได้แก่ 1)โครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ตำบลทั่วประเทศ จำนวน 1,000 แห่ง และ 2)โครงการจัดหาครุภัณฑ์ชุดเจาะสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล จำนวน 10 ชุด
กองทัพบก กระทรวงกลาโหม จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการขุดลอกแก้มลิงภายในชุมชนรถไฟ งบประมาณ 5.8 ล้านบาท และ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดหาครุภัณฑ์เรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช งบประมาณ 146 ล้านบาท
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลได้สนับสนุนงบกลางเพื่อช่วยเหลือภัยแล้ง ปี 63 ไปแล้ว 3 ครั้ง แต่จากสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับประชาชนในภาคอุตสาหกรรมอพยพกลับภูมิลำเนาเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรทั้งนอกและในเขตชลประทานมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น
อีกทั้งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่นซินลากู เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังพบว่ามีหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่ สทนช. ได้ประสานกระทรวงมหาดไทย เพื่อวิเคราะห์และกลั่นกรองแผนงาน/โครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่ามีแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบันสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที จำนวน 14 โครงการ จาก 15 หน่วยงาน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563 และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทั่วประเทศจากผลกระทบภัยพิบัติธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มการลงทุนภาครัฐโดยการช่วยกระตุ้นการซื้อวัสดุและจ้างแรงงานคนในท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านเกษตร ด้านการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนได้อีกด้วย
ทั้งนี้ สทนช. จะติดตามและประเมินผลการดำเนินงานที่ได้รับงบกลางในครั้งนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาด้านน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง