คลังตั้งโต๊ะหาช่องทางลดอุปสรรคการส่งออก-นำเข้ารอชงรัฐบาลใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 31, 2007 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการปรับปรุงระบบกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าและส่งออกไทยว่าจากการหารือในที่ประชุมฯ ได้สรุปประเด็น ดังนี้ การแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับสถานภาพผู้รับจ้างขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางกรมศุลกากรจะรับไปดำเนินการเพื่อปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานสากล แต่ทั้งนี้ คาดว่าจะไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากกฎหมายที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีจำนวนมาก
ประเด็นต่อมา คือ เรื่องการขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมถาวรเพื่อปรับปรุงแก้ไขเรื่องต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งทางกรมศุลกากรได้ระบุว่าได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินเรื่องดังกล่าวแล้ว ประกอบด้วย คณะทำงานที่ดำเนินงานร่วมกับหอการค้าสหรัฐ และคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาภาคเอกชนโดยเฉพาะ โดยมีอธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธาน
ประเด็นสุดท้ายที่ได้มีการหารือในที่ประชุม คือ ความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้ง National Single Window ซึ่งกรมศุลกากรกำลังเร่งดำเนินการอยู่เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในการขอใบอนุญาตของผู้ประกอบการกว่า 68 ฉบับ หรือหมื่นกว่ารายการกับ 30-40 หน่วยงาน ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มนำร่องโดยการทำงานร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ในเดือน ก.ย.นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการเสนอขอลดภาษี Tin Plate ซึ่งเป็นภาษีเหล็กแผ่นที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋อง แต่เนื่องจากการพิจารณาลดภาษีเพียงตัวใดตัวหนึ่งนั้นทำได้ยาก จึงได้ขอให้กลับไปดูรายละเอียดเพื่อทำการลดภาษีเป็น package
นายสมหมาย กล่าวถึงผลกระทบของเรื่องค่าเงินบาทต่อการส่งออกไทย ว่าขณะนี้เรื่องค่าเงินบาทก็ยังเป็นปัญหากับภาคการส่งออกไทย แต่อย่างไรก็ตาม อัตราค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันก็ยังถือว่าไม่เป็นปัญหามากนัก
“ตอนนี้ค่าเงินบาทก็ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก แต่เราก็สามารถแปลงอุปสรรคให้เป็นโอกาสได้ อย่างไรก็ตาม อัตรานี้ก็ถือว่ายังพอไปได้” รมช.คลัง กล่าว
ด้านนายพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า โดยหลักการแล้วปัญหาหรืออุปสรรคของการส่งออกไทยประกอบด้วยหลายตัวแปร ซึ่งเรื่องค่าเงินบาทก็เป็นตัวแปรหนึ่ง แต่ที่มีการกล่าวถึงปัจจัยค่าเงินบาทกันมาก เนื่องจากแสดงให้เห็นชัดเจนว่าต้นทุนของผู้ส่งออกถูกหรือแพง ทั้งที่ปัจจัยเรื่องต้นทุนด้านระบบขนส่ง หรือโลจิสติกส์ ก็เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะถ้าสามารถลดต้นทุนส่วนนี้ได้ ก็สามารถช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ