บสส.เปิดขาย NPAรอบใหม่ 5.7พันลบ./ตั้งเป้าปรับโครงสร้างหนี้ NPLครบปี 51

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 8, 2007 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส. หรือ SAM) เตรียมเปิดประมูลสินทรัพย์รอการขาย(NPA)ครั้งใหญ่กว่า 5.7 พันล้านบาท โดยจะเปิดให้ยื่นซองเสนอราคาสินทรัพย์ทำเลทอง 23 รายการ มูลค่ารวม 2,245.79 ล้านบาทในวันที่ 3 ก.ย. และจัดมหกรรมบ้านมือสอง ครั้งที่ 3 โดยจะเสนอขายสินทรัพย์ทั้งหมด 252 รายการ มูลค่า 3,498.45 ล้านบาท โดยมีราคาสูงสุดที่ 35.60 ล้านบาท/หลัง และราคาต่ำสุดจะอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นบาท/หลัง
นางน้ำผึ้ง วงษ์สมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ SAM กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าจำหน่าย NPA เพียง 2.1 พันล้านบาท โดยขณะนี้มียอดจำหน่ายแล้ว 2 พันล้านบาท และการจำหน่าย NPA ในครึ่งปีหลังจากทั้งสองรายการน่าจะเข้ามาอีกมาก จึงเชื่อว่าทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แน่นอน
สำหรับ NPA ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น 57% เป็นอสังหาริมทรัพย์ และอีก 22% เป็นหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนที่เหลือ 21% เป็นหุ้นของบริษัทที่อยู่นอกตลาดฯ
ในส่วนของ NPA ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นที่ดินเปล่า 82.7% และ 17.3% เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยการขายทรัพย์สินของบสส.จะมี 2 แนวทาง คือ บสส.จะเป็นผู้กำหนดราคาพร้อมขายทรัพย์สินในแต่ละแปลง อีกแนวทางเป็นการเปิดให้ยื่นซองเสนอราคา ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับทรัพย์สินที่มีราคาสูง
นางน้ำผึ้ง กล่าวว่า ในด้านของการจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ(NPL)นั้นบริษัทฯตั้งเป้าที่จะเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ NPLทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2.1 แสนล้านบาทให้เสร็จสิ้นภายในปี 51 และจะรับซื้อหนี้ NPL เข้ามาบริหาร 2 หมื่นล้านบาทในปีนี้
ทั้งนี้ หนี้ NPL ดังกล่าว เป็นหนี้เดิม 1.9 แสนล้านบาทที่มาจากธนาคารกรุงไทยและธนาคารนครหลวงไทย ส่วนที่เหลือ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาทเป็นหนี้ NPL ใหม่ที่รับโอนมาจากธนาคารไทยธนาคาร ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
ที่เหลือเป็นหนี้ที่รับเข้ามาตั้งแต่ในช่วงต้นปี 50 ที่บริษัทฯได้ซื้อหนี้ NPL เข้ามาจำนวน 9 พันล้านบาท และตั้งเป้าที่จะรับซื้อเข้ามาเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาทภายในสิ้นปีนี้
นางน้ำผึ้ง กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ NPL รายเดิมได้แล้วกว่า 95% ขณะที่หนี้ส่วนใหม่ก็จะพยายามเจรจาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายใน 6 เดือน
อนึ่ง SMA เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกับภาครัฐในการลดปริมาณหนี้ NPL ในระบบสถาบันการเงิน และช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำเนินธุรกิจหลักอย่างมีประสิทธิภาพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ