(เพิ่มเติม) ธปท.เผยสินเชื่อระบบแบงก์ Q2/63 โต 5% แต่กำไรชะลอลงหลังกันสำรองเพิ่มรับมือหนี้เสีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 17, 2020 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/63 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และจาก 4.1% ในไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 65.2 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ 5.1% ตามการใช้สินเชื่อของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อ SMEs ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เป็นผลให้หดตัวในอัตราที่ลดลง

ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 34.8 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 4.8% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ สอดคล้องกับการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยที่ปรับดีขึ้นภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2/63 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงป้องกัน (pre-emptive) ช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 509 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.09% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ 3.04% โดยเพิ่มขึ้นจากธุรกิจสายการบินขนาดใหญ่เป็นหลัก

ส่วนสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 7.48% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 7.69%

ในไตรมาส 2/63 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ในระดับ 5.33 หมื่นล้านบาท โดยหลักจากการกันสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจมีแนวโน้มด้อยลง ประกอบกับรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารปรับลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 0.57% จาก 1.03% ในไตรมาสก่อน

สำหรับอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.60% จากไตรมาสก่อนที่ 2.90% เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงสอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของภาคธุรกิจและประชาชนเป็นสำคัญ

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,877 พันล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.2% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 743.7 พันล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ที่ 144.1% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR) ที่ 183.4%

"ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนระบบเศรษฐกิจการเงินในภาวะที่ท้าทายในระยะต่อไปได้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ ช่วยสนับสนุนสินเชื่อและชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของโควิด-19"

นายธาริฑธิ์ คาดว่าภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งปี 63 จะอยู่ที่ระดับ 5% เนื่องจากมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ธุรกิจขนาดใหญ่จะเติบโตได้หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาได้ปกติ ในขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคคาดว่ายังอยู่ใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน ส่วน NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปี คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันที่ 3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ