นักวิชาการ-นักการเงิน แนะไทยแก้วิกฤตเชิงซ้อน ปฎิรูปการเมือง-เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ รองรับโลกหลังโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 17, 2020 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "โลกเปลี่ยน ไทยปรับ รองรับวิกฤตโรคระบาด" จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า เราจะต้องอยู่กับวิกฤตอีกมาก ไม่ใช่แค่โควิด แต่เป็นวิกฤตซ้ำซากและวิกฤตเชิงซ้อนในเวลาเดียวกัน ระลอกแล้วระลอกเล่า ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและปรับโครงสร้างระยะยาวในเวลาเดียวกัน

"แต่เราไม่เคยทิ้งน้ำหนักที่สมดุลระหว่าง 2 เรื่องนี้ เน้นปากท้องมาก่อน เราติดกับดักนี้มานาน เราเรื้อรังกับปัญหาเก่า เราไม่ได้แก้โครงสร้างและพอเจอปัญหาใหม่ ไม่แก้โครงสร้างแล้วยังมาเจอวิกฤตกระหน่ำในเวลาเดียวกัน"

นายสุวิทย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกก่อนโควิดกับเศรษฐกิจโลกหลังโควิดจะไม่เหมือนกัน แล้วประเทศไทยมองการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร โลกหลังโควิดทำให้หลายอย่างของโลกาภิวัฒน์ถูกสะบัดกลับไปหมด โควิดทำให้ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์เปลี่ยนไปสิ้นเชิง

นายสุวิทย์ กล่าวว่า งานนี้คือวิกฤตเชิงซ้อน เราพูดถึงเศรษฐกิจแต่มันมีการเมืองพันอยู่ ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ตอนนี้ต้องถือโอกาสเปลี่ยนการเมืองไป พร้อมๆกับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ประเทศถึงเวลาจะปฏิรูปจริงจัง

"ตอนนี้การเมืองกับเศรษฐกิจจะพันกันยุ่งยากมาก อยากให้ทุกฝ่ายฟังและมาช่วยกันคิดที่จะเดินหน้าไปอย่างเป็นจริงเป็นจัง ด้วยฐานคิดที่ถูกต้องและหลายมาตรการที่เราพูดถึง"

ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ในวิกฤตมีโอกาส อะไรเกิดขึ้นแล้วดีทั้งนั้น คิดว่ามันเป็นโอกาสแต่ก็ไม่ง่ายเพราะต้องทำให้สังคมตื่นตัว สิ่งที่ต้องแก้อันแรกคือแก้รัฐธรรมนูญเพื่อก้าวสู่ประชาธิปไตย และควรเลิกยุทธศาสตร์ชาติ

นายสันติ กีระนันท์ เลขานุการ คณะกรรมาธการการเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตอนนี้เป็นวิกฤตของโลก ต้อง Reset กันใหม่ทุกอย่าง ทำไมไทยไม่ใช้โอกาสนี้ในการคิดใหม่ เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด โปรยไปให้ทุกอุตสาหกรรม มาตรการต่างๆที่ออกมาไม่จำเป็นว่าต้องให้เงินสนับสนุนอย่างเดียว แต่มาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงินก็จะต้องออกมา

"เราใช้ความเคยชิน คิดอย่างเดียวว่าจะโปรยเงิน ช่วยเหลือเอสเอ็มอีเหมือนกัน แต่ต้องยอมรับว่าแต่ละเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงแต่ก็เสี่ยงไม่เท่ากัน ก็ต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน โดยรัฐดันหลังกลุ่มที่ควรจะเป็นแฟลกชิพ แต่รัฐต้องลืมเรื่องฐานเสียงทางการเมืองและคนที่ไปต่อไม่ได้หาอาชีพใหม่ หาธุรกิจใหม่ให้โดยดึงเข้ามาใน BCG ถ้าเชื่อว่า BCG เป็นคำตอบของประเทศ"

นายสันติ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือไม่มีทางเปลี่ยนธรรมชาติได้ เราต้องปรับตัวให้ได้ อย่าติดอยู่กับกรอบความคิดแบบเดิมๆ ที่กรอบการคิดแบบเดิมๆที่ทำร้ายตัวเราและประเทศ เพราะกรอบวิธีคิดแบบเดิมๆ เราใช้การเมืองนำทุกอย่างแต่ไม่ได้คิดว่าประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนคืออะไร การจัดสรรทรัพยากรต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดเชิงเศรษฐกิจ

"แต่วันนี้ถามจริงๆว่าการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่เกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์กับประชาชนสักเท่าไหร่...หลายอย่างในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ เป็นแบบคิดอย่างทำอย่าง ตั้งเป้าไว้อย่างนึงแต่พอทำแล้วทำอีกอย่างนึงสวนทางกันเสมอ แต่ถามว่าตอนที่กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ กับบริบทวันนี้ที่เปลี่ยนไป เราจะเปลี่ยนหรือไม่ เราจะแก้ไขหรือไม่ ผมเองตอนอภิปรายในสภา อยู่กลุ่มกลางๆ ไม่ได้ต่อต้านยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ควรกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่ยุทธศาสตร์ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนได้เสมอ เป้าหมายอาจจะปรับเปลี่ยนได้บ้าง แต่เป้าหมายสุดท้ายเรื่องสร้างความมั่งคั่ง แต่นิยามของความมั่งคั่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท

"ภาครัฐ หรือฝ่ายบริหารต้องคล่องแคล่วกว่านี้ ฝ่ายบริหารต้องคิดถึงผลประโยชน์ประชาชนให้มากกว่านี้ ถึงแม้ปากจะบอกว่าคิดถึงประชาชน ต้องลืมผลประโยชน์ของตัวเอง"

นางจุฑาทิพย์ จงวนิชย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถ้าดูการปรับตัวของประเทศไทยเทียบกับประเทศอืนๆ มองว่า เราช้ากว่าคนอื่น งบประมาณที่ตั้งสำหรับสู้โควิดของไทยไม่ได้น้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่เม็ดเงินที่เป็นงบประมาณมันผลักไปไม่ออก เพราะตั้งเงื่อนไขไว้สูง อีกทั้งมาตรการที่ใส่เข้าไปไม่ถูกจุด เช่น จุดแรกคือความช่วยเหลือด้านภาษี หรือการชดเชยค่าแรงแต่ไม่มีนโยบายช่วยสถานประกอบการในการรักษาแรงงานให้อยู่ในสถานประกอบการ และ เรื่องของซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไปไม่ถึงภาคธุรกิจที่ถูกผลกระทบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ