(เพิ่มเติม) ก.ล.ต.คาดเปิดช่องทางคนไทยลงทุนตปท.เพิ่มได้ใน ก.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 14, 2007 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล  เลขาธิการ สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เปิดเผยว่า ก.ล.ต.อนุญาตให้ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถไปลงทุนต่างประเทศได้รายละไม่เกิน 5 ล้านเหรียญ สรอ. โดยเริ่มตั้งแต่ ก.ย.นี้
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนทั่วไปจะต้องเป็นการลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล เว้นแต่เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการกำกับดูแล โดยหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ สามารถลงทุนผ่านโบรกเกอร์ได้โดยไม่ต้องผ่านผู้จัดการกองทุน
"การอนุญาตครั้งนี้เป็นการเปิดกว้างให้ผู้ลงทุน รวมถึงช่วยให้ บลจ.และ บล.มีธุรกิจที่กว้างขึ้น"นายธีระชัย กล่าว
นายธีระชัย กล่าวว่า ในส่วนของผู้ลงทุนประเภทสถาบันสามารถลงทุนได้ในวงเงินรายละไม่เกิน 50 ล้านเหรียญ สรอ. โดยให้ลงทุนผ่านบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือซื้อจากบริษัทหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะต้องรายงานการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของลูกค้าต่อ ธปท.
นอกจากนี้ ก.ล.ต.จะอนุญาตให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาจดทะเบียนซื้อขายเป็นเงินบาทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้ ในรูปแบบใบรับฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เปลี่ยนมือได้ โดยอาจะเป็น TCR ของหุ้นรายตัวของบริษัทชั้นนำในต่างประเทศหรือเป็น TCR ต่างประเทศก็ได้
"คาดว่าจะออกประกาศได้ในเดือนก.ย.นี้ การเปิดโอกาสให้ออกไปลงทุนในครั้งนี้เป็นการลงทุนที่ต้องถือนานพอควรไม่น่าจะวุ่นวายในตลาด onshore และ off shore แต่เพื่อให้ธปท.สบายใจว่าไม่ออกไปแล้วจะไปหาประโยชน์จากส่วนต่าง 2 ตลาด จึงกำหนดให้ต้องรายงานต่อ ธปท.เป็นประจำ" นายธีระชัย กล่าว
ด้านนายมาริษ ท่าราบ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า สมาคมฯได้ประเมินตัวเลขเงินที่จะไปลงทุนต่างประเทศภายใต้กองทุนส่วนบุคคลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์สำหรับบัญชีเงินฝากของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเอกชนที่มียอดเงินฝากตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ณ สิ้นเดือนพ.ค.50 ซึ่งมียอดเงินประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ไม่รวมเงินฝากของมูลนิธิ สหกรณ์ออมทรัพย์และประกันภัย/ประกันชีวิตอีกจำนวนประมาณ 7 แสนล้านบาท
นายธีระชัย กล่าวว่า ในส่วนของการลงทุนใน CDO ที่เกี่ยวข้องกับตลาดซับไพร์มนั้น ขณะนี้ไม่พบว่ามีบล. หรือ บลจ.เข้าไปลงทุน มีเพียงแต่ธนาคารไทยธนาคาร (BT) ที่ ธปท.แจ้งไป แต่ในส่วนของสำนักงานก.ล.ต.ได้ย้ำให้เจ้าหน้าที่ติดต่อผู้สอบบัญชีว่ามีการ mark to market เพื่อให้งบดุลบัญชีเป็นงบดุลที่ถูกต้องหรือไม่
"ก.ล.ต.มีหน้าที่รับผิดชอบติดตามดูงบ mark to market เงินลงทุนใน CDO หรือเปล่า ซึ่งจะต้องบันทึกในงบ Q2/50 ถ้า mark to market แล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่คิดว่าผู้สอบบัญชีจะ mark to market แล้ว แต่เป็นการย้ำให้แน่ใจ" นายธีระชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ